Tuesday 9 April 2019

ทำไมต้องทำเรื่องการท่องเที่ยว: สะท้อนมุมมองจากคนในและคนนอก [ถอดบทเรียนจากชุมชนห้วยกระบอก]​


          Siwarit Valley  กลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้ง วันนี้ขอยกถึงเรื่องราว เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว บนพื้นฐานการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลซึ่งเป็นโครงการวิจัย ที่ผมได้ดำเนินการภายใต้การรับทุนสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่มีความสมดุล ซึ่งเป็นการดำเนินการกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งหมด 9 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดแรกที่ได้เข้าไปดำเนินการคือชุมชนบ้านห้วยกระบอก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

           ชุมชนบ้านห้วยกระบอก เป็นศูนย์กลางของชาวจีนแคะ ที่มี ความเก่าแก่ที่สุด และ ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทยก็ว่าได้ ภายใต้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนแคะ หรือที่รู้จักกันในนามจีนฮากกา มีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ที่หลายอย่างคนรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยได้พบเห็น แต่คนรุ่นเก่าเห็นแล้วก็จะอมยิ้มนึกถึงวันเวลาในอดีตที่ผ่านมา ชื่อชุมชนห้วยกระบอก มีปรากฏอยู่ในนิราศนายมี หรือสามเณรกลั่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่มีการเดินทางไปยังพระแท่นดงรังเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท แล้วยังปรากฏอยู่ในหลักฐานการเสด็จประพาสต้น ของรัชกาลที่ 5 นั่นหมายความว่าชุมชนห้วยกระบอกเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่อดีตทั้งนี้ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่ชัดเจนว่าชุมชนบ้านห้วยกระบอกมีการก่อสร้างบ้านเรือนที่ชัดเจนและมีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 2402 แต่อาคารไม้ที่พบเห็นนี้ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

ภาพที่ 1 บ้านไม้เก่าห้วยกระบอก

         สิ่งที่เห็นผลอันดับแรกเลยจากการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวก็คือ เม็ดเงินจากคนภายนอกที่จะเข้ามาสู่ตลาดห้วยกระบอกและพื้นที่ใกล้เคียง ที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว

          อันดับที่ 2 เป็นการฟื้นฟู ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี ที่นับวันมีแต่ โอกาสในการสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมอาหารที่เป็นของชาวจีนแคะ อาทิ หวองฟ้ามู่ปั้น ก๊าหลีปั้น ขนมมัดใต้ เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องราวของบรรพบุรุษชาวจีนแคะที่เป็นนักรบ ต้องออกเดินทางไปรบเป็นระยะเวลานาน อาหารที่เตรียมไปรบ มักจะเป็นอาหารที่ทำจากแป้ง หรือข้าวที่สามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานด้วยอากาศที่หนาวเย็นของประเทศจีนทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้โดยไม่เสีย

ที่มา: ภาพจาก Wirot Thawonkirati​
ภาพที่ 2 ขนมหวองฟ้ามู่ปั้น

          อันดับที่ 3 เป็นการสร้างสังคมเข้มแข็ง ลูกหลานชาวห้วยกระบอก ที่ไปเรียนหรือไปทำงานที่กรุงเทพฯหรือที่อื่นอย่างน้อยเสาร์อาทิตย์ก็จะกลับมาถ้ามีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้น ก็จะทำให้ชุมชนมีความครึกครื้น สายสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่นสังคมอบอุ่น

          อันดับที่ 4 เมื่อทุกคนเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สิ่งที่ตามมาก็คือ การใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ทั้งด้านอากาศ ของเสีย ขยะและน้ำเสีย  อย่างทุกวันนี้ เมื่อเราเจอผลกระทบจาก PM 2.5 ทุกหน่วยงานกังวล ผู้คนต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อเราทำการท่องเที่ยว และใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ก็จะทำให้พื้นที่นี้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถแวะมารับประทานอาหาร ซื้อหาสินค้า และสัมผัสวิถีชาวจีนแคะห้วยกระบอก

ภาพที่ 3 ระบบเครือข่ายคุณค่าจากการท่องเที่ยว

          จากภาพที่ 3 ระบบเครือข่ายคุณค่าจากการท่องเที่ยวที่ผมยกขึ้นมาอธิบายได้ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงตลาดห้วยกระบอกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องมีการใช้จ่ายเงินก็คือ การซื้อหาอาหารหรือการไปรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ขายอยู่ในตลาดห้วยกระบอก ซึ่งร้านอาหารก็ต้องนำเงินไปซื้อวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัวไข่ไก่พืชผักผลไม้จากตลาด พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็จะมีรายได้ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเหล่านี้ ก็ต้องนำเงินไปซื้อพืชผลการเกษตรจากเกษตรกร เกษตรกรก็มีรายได้มากขึ้น

          ในขณะเดียวกัน เมื่อพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ร้านอาหารต่างๆหรือเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ก็ต้องมีการซื้อหาสินค้าที่จำเป็น ก็ต้องไปซื้อของจากร้านค้าที่อยู่ในตลาดห้วยกระบอก ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับการท่องเที่ยว แต่ได้รับผลประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นที่เกิดมาจากการจ่ายเงินของนักท่องเที่ยวที่มาจากภายนอก
และที่สำคัญ ยังรวมไปถึงการจ้างงานเพราะเมื่อมีการขยายตัว มีความต้องการสินค้า อาหาร และข้าวของอื่นๆ ร้านค้าอาจจะต้องมีการจ้างคนงานเพิ่มขึ้น ผู้คนที่ไม่ได้มีอาชีพหลัก ก็สามารถมีรายได้อันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากชาวห้วยกระบอกและพื้นที่ใกล้เคียงทุกคน อย่าลืมจุดเริ่มต้นที่เราขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อต้องการฟื้นฟูและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของวิถีจีนแคะห้วยกระบอก ปัจจัยเรื่องเงินหรือผลตอบแทนให้เป็นเพียงผลพลอยได้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น  เพราะเมื่อเราสามารถรักษา และยึดมั่นในจุดเริ่มต้น รายได้ทางเศรษฐกิจ หรือเม็ดเงินจากภายนอกจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นไม่ว่าใครก็สามารถได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ทุกคน

          ท้ายสุดนี้ สิ่งที่เราพูดถึง การท่องเที่ยวที่มีความสมดุล นั่นหมายความว่า เราไม่ได้มองเพียงรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่เรามองถึงความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชนรวมไปถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่นเดิมหากท่านใดมีข้อแนะนำ ติชม หรือสอบถาม สามารถส่ง email ได้ที่ psiwarit@gmail.com​ ด้วยความยินดีครับ







สงวนลิขสิทธิ์ © 2562 สามารถนำไปอ้างอิงได้แต่ขอความกรุณาอ้างอิงที่มา

#วิถีจีนแคะห้วยกระบอก #TBMCE

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand