Saturday 14 May 2011

บอลนอกแค่สะใจ บอลไทยในสายเลือด!


          ไม่ได้เข้ามาเขียน blog ตั้งนานทิ้งห่างไปหลายเดือน เพราะหลังจากกลับมาประจำการในงานประจำ เวลาส่วนตัวก็หายไปพอสมควร พอดีช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูกาลฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศ และเป็นช่วงที่ฟุตบอลภายในประเทศกำลังขับเคี่ยวกันอย่างมัน ประกอบกับเป็นช่วงที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชนูปถัมป์กำลังมีปัญหาวุ่นวายทั้งภายนอกและภายใน ผมก็ตัดสินใจว่าเอาซักหน่อยในฐานะที่เป็นกีฬาที่ชื่นชอบตั้งแต่สมัยวิ่งตามไปดูพี่ตุ๊ก เล่นให้ทหารอากาศกับทีมชาติไทย สมัยที่เป็นแฟนประจำนิตยสารฟุตบอลสยาม
          ฟุตบอลไทยสมัยก่อนมักจะถูกแซวว่าจำนวนคนดูน้อยกว่านักเตะทั้งสองทีมรวมกันอีก แต่จริง ๆ แล้วยุคนั้นถ้าใครได้เข้าไปสนามศุภฯ จะเห็นว่าก็จะมีแฟนบอลประจำอยู่บ้าง แม้จะไม่เต็มสนามเหมือนสมัยนี้ แต่ก็ถือว่าเยอะมาก ยิ่งถ้าเป็นแมทช์ที่พี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อนลงเล่นแล้ว คนจะยิ่งมากพอสมควร ซึ่งถ้ายุคสมัยนั้นได้มีการพัฒนาฟุตบอลอาชีพ เราคงมีโอกาสลุ้นไปบอลโลกมากกว่านี้ครับ ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงบอลไทย คนส่วนมากจะส่ายหัว บอกไม่ดูหรอก ไม่รู้ดูใคร ไม่สนุก ทั้งนี้เพราะว่าข่าวสารหรือเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอลจะถูกกลบกระแสด้วยฟุตบอลต่างประเทศ แฟนบอลจำนวนมากรู้จักนักฟุตบอลต่างประเทศดีกว่านักฟุตบอลไทยด้วยซ้ำไป ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ (ทั้งที่ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้) ว่าบอลไทยไม่สนุก ไม่เร้าใจ ถ้าเป็นประเด็นนี้ผมขอเถียงคอเป็นเอ็น ยืนกระต่ายขาเดียวอีกด้วยว่า ไม่จริงครับ ยุคที่วงการฟุตบอลไทยกำลังพัฒนาจากแต่เดิมฟุตบอลสมัครเล่น พัฒนาเป็นฟุตบอลกึ่งอาชีพ เซมิโปรลีกครั้งแรกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2534 – 35 (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ เพราะผมไปดูนัดเปิดสนามด้วย) รวมไปถึงการแข่งขันไทยแลนด์ลีกที่บอกว่าเป็นลีกอาชีพของประเทศไทย แต่นักฟุตบอลยังมีงานประจำที่หน่วยงานต่าง ๆ นั้น ผมกำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่พอดี ด้วยความที่ฟุตบอลในสายเลือด ผมจึงเลือกทำเกี่ยวกับการรับรู้เกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลกึ่งอาชีพของประเทศไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ประเด็นว่าทำไมผมถึงเขียนว่าเป็นฟุตบอลกึ่งอาชีพ หรือทำในกรุงเทพมหานครนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญครับ (จริง ๆ เพราะว่าแม้ว่าจะประกาศตัวว่าเป็นบอลอาชีพ แต่ก็ยังไม่ใช่เต็มรูปแบบ รวมถึงการแข่งขันอยู่ในเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น) ประเด็นสำคัญอยู่ที่ผลออกมาเป็นอย่างไร?
          ผลที่ได้รับคือ คนที่ไปดูฟุตบอลที่สนามฟุตบอลในยุคนั้นประมาณปี 41 ล้วนแต่บอกว่า "ชอบบอลไทย" "สนุก" "เล่นได้ไม่แพ้บอลพรีเมียร์ลีกเลย" ฯลฯ ขณะที่คนที่ไม่เข้าไปดูฟุตบอลในสนามกลับบอกเหมือนที่บรรดาสื่อมวลชนในประเทศไทยพยายามกรอกหูว่า "บอลไทยไม่สนุก" "เล่นไม่เร้าใจ" "น่าเบื่อ" ฯลฯ สรุปสั้น ๆ ก็คือว่าสื่อมวลชนเป็นตัวแปรที่สำคัญของวงการฟุตบอลอาชีพนั่นเองครับ ช่วงที่แฟนบอลอาชีพของประเทศไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ตอนนี้กระจายตัวในทีมฟุตบอลต่าง ๆ ได้เรียกร้องกันในโลกออนไลน์นั้นคือ อยากให้สื่อมวลชนให้การสนับสนุนออกข่าวมากกว่านี้ แต่ในสมัยนั้นก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่คุณระวิ โหลทอง บอสใหญ่สยามกีฬาเข้ามาให้การสนับสนุนโดยรับตำแหน่งเีกี่ยวกับด้านสิทธิประโยชน์หรือการส่งเสริมฟุตบอลอาชีพของประเทศไทย และผลออกมาเป็นไปตามคาดครับเมื่อสื่อใหญ่ด้านกีฬาลงเล่นเอง แฟนบอลที่ติดตามหนังสือพิมพ์กีฬามีจำนวนมาก กระแสบอลลีกไทยก็บูมเกินคาด ต้องขอขอบคุณทางคุณระวิอีกครั้งที่ลงมาดูแลเรื่องนี้ (แม้ว่าจะช้าไปหน่อยในสายตาผม แต่ก็เข้าใจครับว่าสมาคมฟุตบอลฯ คือแดนสนธยา ที่รู้เพราะตอนทำวิทยานิพนธ์ โดนด่าฝากเยอะมาก) แต่ก็เสียดายว่าคุณระวิประกาศวางมือถ้าไม่มีนายกสมาคมฟุตบอลชื่อ วรวีร์
         ด้านแฟนบอลถือว่าบ้านเรามีการพัฒนามากพอสมควร ตอนผมเดินทางกลับจากอังกฤษ ผมได้เจอพี่ง้วน สุรชัยที่สนามบิน Heathrow และได้พูดคุยกันผมก็ได้เล่าให้พี่ง้วนฟังว่าผมทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาเอกเกี่ยวกับแฟนฟุตบอลลิเวอร์พูลครับ พี่ง้วนก็แลกเปลี่ยนนามบัตรพร้อมเชิญให้ผมแวะเข้าไปที่สโมสรบางกอกกล๊าสบ้าง ผมก็ยังไม่มีเวลาโทรไปหาพี่เค้าเลย การพัฒนาการของแฟนฟุตบอลในเมืองไทยผมมองแล้วเชื่อว่าเติบโตและแข็งแกร่งเร็วที่สุดในโลก ทั้งในด้านกิจกรรม การเชียร์ การติดตามแฟนบอล ยุคก่อนหน้านี้ทีมแฟนบอลในดวงใจผมที่ผมเห็นว่าทุ่มเทเกินร้อยคือ กลุ่มหมาเห่าใบตองแห้งของทีมเชียงใหม่ แต่ตอนนี้จะเห็นว่าหลาย ๆ ทีมได้พัฒนาขึ้นไปมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจครับที่เห็นบอลไทยครึกครื้น เพราะส่วนตัวผม เห็นด้วยสายตามาตลอดว่าบอลไทยไม่ได้มันส์แพ้บอลนอกเลยครับ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนรักเยอะ ปัญหาก็เกิด บางทีด้วยความที่รักมากเกินไปทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เกิดอาการไม่ยอมเมื่อนักฟุตบอลถูกรังแก ก็เกิดปัญหาฮูลิแกนบอลไทยเกิดขึ้น ที่อังกฤษกว่าจะแก้ปัญหาฮูลิแกนได้นานมาก ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Green Street จะเห็นภาพฮูลิแกนที่ชัดเจน แต่การเกิดปัญหาฮูลิแกนของอังกฤษต่างจากของไทยนะครับ ที่อังกฤษ ฮูลิแกนเกิดขึ้นเพราะกระบวนการทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากกีฬาฟุตบอลอังกฤษในยุคเริ่มต้นจนถึงช่วงยุค 60 นั้นเป็นกิจกรรมของคนชนชั้นแรงงานที่ใช้เวลาช่วงวันเสาร์ตอนบ่ายหลังจากทำงานครึ่งวันในผับ ในสนามฟุตบอลเป็นกิจวัตรประจำวัน (แนะนำให้หาภาพยนตร์เรื่อง Fever Pitch มาอ่านครับ) แต่ต่อมาหลังจากฟุตบอลอังกฤษถูกผูกขาดโดย Big 5: Liverpool, Everton, Spur, ManU, และ Arsenal ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านผลตอบแทน ลิขสิทธิ์ถ่ายทอด กลุ่มฐานแฟนบอลที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ชนชั้นกลางหันมาใช้เวลาส่วนใหญ่ในวันเสาร์ที่สนามฟุตบอล ทำให้แฟนบอลพันธุ์แท้ที่เป็นชนชั้นแรงงานไม่พอใจ เกิดอาการที่เรียกว่า "งอน" นั่นเอง ก็เริ่มมีการรวมกลุ่มที่แสดงออกถึงความรุนแรง และเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านสังคมด้วยการยกพวกตีกัน กลุ่มพวกนี้จะตั้งตัวและรวมกลุ่มกันที่เรียกกันว่า Firm ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแฟนบอลทีมอะไร Firm ที่น่ากลัวมาก ๆ คือ Millwall และ Leeds ครับ แต่คนไทยส่วนมากจะรับรู้ว่าฮูลิแกนดัง ๆ คือลิเวอร์พูล ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการฮิลล์โบโร่และเฮย์เซล
          อย่างไรก็ตามแม้ว่า The Sun หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษจะสรุปว่าฮูลิแกนลิเวอร์พูลเป็นต้นเหตุ - ทำให้บ้านเราคุ้นกับฮูลิแกนจากลิเวอร์พูล แต่ผมสอบของ Lord Taylor ก็สรุปว่าปัญหาที่ฮิลล์โบโร่เกิดจากความบกพร่องของตำรวจและการจัดการสนาม แต่ภาพของฮูลิแกนลิเวอร์พูลยังติดตาคนไทย และที่ผมกังวลคือ บ้านเราเองยังไม่มีการให้ความสำคัญกับการจัดการดูแลความปลอดภัยโดยตำรวจและการควบคุมฝูงชนดังที่เราเห็นภาพความรุนแรงในหลายสนาม และที่สำคัญบทลงโทษแฟนบอลที่ก่อความรุนแรงนั้นยังไม่ชัดเจน ที่อังกฤษถ้าแฟนบอลมีปัญหา สโมสรต้องรับผิดชอบด้วย ส่วนการลงโทษแฟนบอลคนนั้น ถ้าเกี่ยวกับกฎหมายก็จัดการไป แต่สโมสรมักจะตัดสิทธิ์การเข้าชมการแข่งขันในสนามตลอดชีพ พร้อมกับขึ้นบัญชีไว้เลยครับ ฮูลิแกนบางคนเวลามีฟุตบอลแมทช์สำคัญจะต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจด้วยครับเพื่อป้องกันการก่อเหตุครับ
         ยุคนี้เป็นยุคที่เราเปลี่ยนแปลงจาก ลีกกรุงเทพฯ เป็นลีกประเทศ เราก็ต้องให้ความสำคัญในการจัดการทั้งความปลอดภัย การเดินทาง การจัดการฐานข้อมูลแฟนบอล ก่อนหน้านี้แฟนบอลจำนวนมากได้ถกเถียงกันในเรื่องลีกกรุงเทพฯ หรือลีกประเทศ หรือบอลหน่วยงานนั้น ในเวลานั้นผมมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากเราเดินมาถูกทางแล้วครับ ผมมองว่าเป็นเส้นทางเดียวกับลีกอังกฤษนั่นคือ ยุคแรก ๆ นั้นสโมสรฟุตบอลในอังกฤษเป็นหน่วยงานหรือบริษัททั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เป็นโรงงานเย็บผ้า เวสต์แฮม คือโรงงานทำค้อน อาร์เซนอลเป็นโรงงานผลิตปืนใหญ่เป็นต้น ยุคแรกการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษก็กระจุกในลอนดอนเมืองหลวง ซึ่งในปัจจุบันสโมสรในลีกสูงสุดของอังกฤษที่มาจากลอนดอนคือ สเปอร์ อาร์เซนอล เวสต์แฮม ฟูแล่ม เชลซี ดังนั้นผมคิดว่าบอลไทยเราไปไกลว่าจะพูดว่าเป็นลีกอะไรแล้วเพราะตอนนี้เรามีลีกเดียวครับคือ ฟุตบอลอาชีพของประเทศไทยอย่างเต็มร้อยภายใต้ชื่อ ฟุตบอลสปอนเซอร์ไทยพรีเมียร์ลีกครับ
          ด้วยความที่แฟนบอลมีส่วนสำคัญทั้งในด้านสร้างสรรค์ และด้านทำลาย ผมว่าถึงเวลาแล้วที่แต่ละสโมสรฟุตบอลจะเข้ามามีแผนในการจัดการวางแผน พัฒนาควบคู่กันไป เพราะเราปฎิเสธไม่ได้หรอกครับว่าถ้าไม่มีแฟนบอลตามเชียร์แล้วแต่ละสโมสรอยู่ ไม่ได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับแฟนบอลอย่างไรให้เชียร์อย่างสร้างสรรค์ ลดความรุนแรง เพื่อความแข็งแกร่งของลีกอาชีพไทยอันเป็นบันไดสำคัญของการไปแข่งขันในฟุตบอลโลก ที่สำคัญมากที่สุดคือ การส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศรวมถึงจังหวัดที่เป็นต้นสังกัดของแต่ละสโมสร ส่วนผมก็เฝ้ารอทีมรักทีมเดียวในดวงใจว่าปีหน้าจะได้ขึ้นมาแข่งในลีกสูงสุดหรือเปล่านั่นคือ แอร์ฟอร์ซยูไนเต็ดครับ

Siwarit Valley 2009 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand