Tuesday 14 May 2019

Far Away Fan เมื่อรักไม่เคยเปลี่ยนแปลง


          กว่าที่หลายๆท่านจะได้อ่านบทความในวันนี้ เราก็คงทราบผลแล้วว่าปีนี้เป็นอีกปีหนึ่ง ที่สโมสรลิเวอร์พูลต้องผิดหวังเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 ถูกล้อเลียนว่าว่าวบ้าง ท่านรองบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทำให้พวกเราท้อถอยคือจิตใจที่ยังเป็นแฟนบอลของลิเวอร์พูล เราไม่ได้เชียร์ลิเวอร์พูลเพราะเราต้องการเป็นแฟนบอลของทีมแชมป์แต่เรารักและผูกพันกับสโมสรแห่งนี้ และเราก็เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งถ้วยแชมป์จะเป็นของเรา


          สิ่งที่พวกเราเป็น คือ เราไม่มีวันที่จะไปเชียร์ให้เอฟเวอร์ตันเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก เพื่อที่แมนซิตี้หรือ แมนยู จะได้พลาดแชมป์ลีก เพราะเอฟเวอร์ตัน คือ คู่แข่งร่วมเมืองตลอดกาล

          สิ่งที่พวกเราเป็น คือ สิ่งที่เราบอกว่าเราเป็นสโมสรฟุตบอลเดียวที่มีวัฒนธรรมของสโมสร ที่ดูได้จากอะไรหลาย ๆ อย่าง (อันนี้ แฟนบอลทีมอื่นหลายคนที่ดูบอลในสนามจริงที่อังกฤษเป็นคนพูด)


          สำหรับการเป็นแฟนบอล ต้องไม่ใช่เพียงแค่ Birking and Corfing เหมือนที่เราเห็นจากแฟนบอลชาวไทยบางกลุ่ม เพราะ Birking and Corfing คือแฟนบอลทีมที่ตอนที่ทีมชนะ คว้าเสื้อทีมมาใส่ แต่เมื่อทีมแพ้ ออกมาด่าทีมหรือสโมสรฟุตบอลที่เราบอกว่าเรารักนักรักหนา  ที่เห็นได้ชัด คือการด่านักเตะ รวมไปถึงการไล่ผู้จัดการทีม พอเปลี่ยนมา ดูเหมือนจะดี ความหวังก็กลับมา นั่งนับนิ้ว อีกกี่แต้มจะเป็นแชมป์ แต่ดีได้แป๊บเดียวก็กลับอาการเดิม ก็ออกมาบ่น มาไล่อีก

          เคยมีคนถามว่าทำไมยังเชียร์ลิเวอร์พูล ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกมานานมากแล้ว คำตอบที่ผมให้กับคนถามคือ เมื่อเรารักอะไรแล้ว มันยากที่จะเปลี่ยนใจ ทีมฟุตบอลไม่ใช่เสื้อ ที่เปลี่ยนแบรนด์ได้ มันมากกว่าแค่ Brand Loyalty แต่เป็น Brand Engagement ผมมีความทรงจำดี ๆ กับสโมสรลิเวอร์พูลทั้งในฐานะ Far Away Fan ที่เชียร์ลิเวอร์พูลจากนอกเกาะอังกฤษ และเป็นแฟนลิเวอร์พูลที่เข้าไปดูที่สนาม รวมถึงการทำ Thesis ปริญญาเอกในหัวข้อเกี่ยวกับการเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล  และเชื่อว่า เป็นคนไทยคนเดียว ที่เข้าร่วม การประชุมจัดตั้ง The Spirit of Shankly หรือ SOS  ที่เป็นสหภาพแฟนบอล แห่งแรกและแห่งเดียวของโลก การประชุมวันนั้น จัดขึ้นที่โรงโอเปร่าเก่า แก่ของเมืองลิเวอร์พูล หลังจากประชุมเสร็จ แฟนบอลก็เดิน ขบวนไปยังสนาม Anfield ซึ่งผมก็อยู่กับเขาตั้งแต่ต้นจนจบ


          การประชุมครั้งนั้น เป็นการตอบโต้ ผู้บริหารสโมสร ฟุตบอลลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน แต่ไม่เคยรู้เรื่องราว ตำนาน หรือประวัติศาสตร์ของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล นั่นคือความพยายามที่จะปลดราฟาเอล เบนิเตซผู้จัดการทีม สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลในสมัยนั้น เพียงแค่การทำทีมแพ้ในลีก  ผลที่เกิดขึ้น สโมสรยังคงจ้างราฟาเอล เบนิเตซต่อไป ถือเป็นความสำเร็จ ที่แฟนบอล โชว์พลัง consumer empowerment ที่มีเหนือสโมสร ช่วงนั้นจำได้ แฟนบอลลิเวอร์พูล คุยกันหลายวิธีการ ที่จะต่อต้านสโมสร หนทางแรก หลายคนเรียกร้อง ให้แฟนบอล ไม่ต้องเข้าไปดูบอลที่สนาม ไม่ต้องซื้อของที่ร้านขายของของสโมสร ไม่ซื้ออาหารภายของสโมสร เพื่อแสดงให้เห็นว่า พวกเราไม่พอใจแล้วนะ แต่สิ่งนี้ ไม่มีวันเกิดขึ้นที่สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ด้วยคำว่า YNWA หรือ You Will Never Walk Alone  หลายคนย้ำเตือน วัฒนธรรมของแฟนบอลสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล ว่าเราจะไม่มีวันทำร้ายสโมสร ไม่มีวันทำร้ายนักฟุตบอลหรือแม้กระทั่งผู้จัดการทีม ดังนั้น การทำเช่นนั้น ไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อสโมสรเลย และเจ้าของ ชาวอเมริกันสองคนนั้น ก็คงไม่ได้รู้สึกอะไร กับสิ่งที่เกิดขึ้น หนทางที่แฟนบอล ได้ข้อสรุปในวันนั้นคือ หลังจากฟุตบอลเลิกแฟนบอลจะอยู่สนามต่ออีก 15 นาที เนื่องจากตามกฎ หลังจากสิ้นสุดการแข่งขันแฟนบอลจะต้องเดินออกจากสนามทันที การอยู่สนามต่ออีก 15 นาทีจึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ทำให้สโมสร ได้รับผลกระทบทางลบ


          แฟนบอลบางทีม ที่เขาว่า ไม่ค่อยมีวัฒนธรรม เพราะแฟนพันธุ์แท้จริงๆ ประเภทฮาร์ดคอร์ เขาย้ายหนี ไปตั้งทีมใหม่ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เจ้าของ บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอเมริกา มาจับจองเป็นเจ้าของ แล้วตั้งชื่อทีมใหม่ว่า AFC United  พร้อมบอกว่า ถ้าจะเอาความสำเร็จ แต่มองข้ามตัวตนความเป็นสโมสร พวกเขาก็เลือกที่จะเดินจากไป  แล้วปล่อยให้แฟนบอล กลุ่มนี้ ยังเลือกที่จะบริโภค แบรนด์ดังๆต่อไป

          คำว่าแฟนบอล คงจะสอนกันไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมของพวกเราชาวลิเวอร์พูล คือ You'll Never Walk Alone! Walk on Walk on เราจะไม่มีวันเชียร์ให้ทีมเราแพ้คู่อริร่วมเมือง พวกเราจะยังคงสนับสนุนลิเวอร์พูลต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะลิเวอร์พูลเป็นอะไรที่มากกว่าเครื่องมือที่ได้ล้อหรือถากถางเพื่อน นี่แหละครับ วิถีพวกเรา The Kop

Tuesday 9 April 2019

ทำไมต้องทำเรื่องการท่องเที่ยว: สะท้อนมุมมองจากคนในและคนนอก [ถอดบทเรียนจากชุมชนห้วยกระบอก]​


          Siwarit Valley  กลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้ง วันนี้ขอยกถึงเรื่องราว เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว บนพื้นฐานการท่องเที่ยวที่มีความสมดุลซึ่งเป็นโครงการวิจัย ที่ผมได้ดำเนินการภายใต้การรับทุนสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่มีความสมดุล ซึ่งเป็นการดำเนินการกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งหมด 9 จังหวัด ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยจังหวัดแรกที่ได้เข้าไปดำเนินการคือชุมชนบ้านห้วยกระบอก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

           ชุมชนบ้านห้วยกระบอก เป็นศูนย์กลางของชาวจีนแคะ ที่มี ความเก่าแก่ที่สุด และ ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทยก็ว่าได้ ภายใต้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนแคะ หรือที่รู้จักกันในนามจีนฮากกา มีวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ที่หลายอย่างคนรุ่นใหม่แทบจะไม่เคยได้พบเห็น แต่คนรุ่นเก่าเห็นแล้วก็จะอมยิ้มนึกถึงวันเวลาในอดีตที่ผ่านมา ชื่อชุมชนห้วยกระบอก มีปรากฏอยู่ในนิราศนายมี หรือสามเณรกลั่นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่มีการเดินทางไปยังพระแท่นดงรังเพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท แล้วยังปรากฏอยู่ในหลักฐานการเสด็จประพาสต้น ของรัชกาลที่ 5 นั่นหมายความว่าชุมชนห้วยกระบอกเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่อดีตทั้งนี้ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่ชัดเจนว่าชุมชนบ้านห้วยกระบอกมีการก่อสร้างบ้านเรือนที่ชัดเจนและมีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 2402 แต่อาคารไม้ที่พบเห็นนี้ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

ภาพที่ 1 บ้านไม้เก่าห้วยกระบอก

         สิ่งที่เห็นผลอันดับแรกเลยจากการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวก็คือ เม็ดเงินจากคนภายนอกที่จะเข้ามาสู่ตลาดห้วยกระบอกและพื้นที่ใกล้เคียง ที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว

          อันดับที่ 2 เป็นการฟื้นฟู ศิลปะวัฒนธรรมประเพณี ที่นับวันมีแต่ โอกาสในการสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมอาหารที่เป็นของชาวจีนแคะ อาทิ หวองฟ้ามู่ปั้น ก๊าหลีปั้น ขนมมัดใต้ เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องราวของบรรพบุรุษชาวจีนแคะที่เป็นนักรบ ต้องออกเดินทางไปรบเป็นระยะเวลานาน อาหารที่เตรียมไปรบ มักจะเป็นอาหารที่ทำจากแป้ง หรือข้าวที่สามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานด้วยอากาศที่หนาวเย็นของประเทศจีนทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้โดยไม่เสีย

ที่มา: ภาพจาก Wirot Thawonkirati​
ภาพที่ 2 ขนมหวองฟ้ามู่ปั้น

          อันดับที่ 3 เป็นการสร้างสังคมเข้มแข็ง ลูกหลานชาวห้วยกระบอก ที่ไปเรียนหรือไปทำงานที่กรุงเทพฯหรือที่อื่นอย่างน้อยเสาร์อาทิตย์ก็จะกลับมาถ้ามีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้น ก็จะทำให้ชุมชนมีความครึกครื้น สายสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่นสังคมอบอุ่น

          อันดับที่ 4 เมื่อทุกคนเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สิ่งที่ตามมาก็คือ การใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ทั้งด้านอากาศ ของเสีย ขยะและน้ำเสีย  อย่างทุกวันนี้ เมื่อเราเจอผลกระทบจาก PM 2.5 ทุกหน่วยงานกังวล ผู้คนต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อเราทำการท่องเที่ยว และใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ก็จะทำให้พื้นที่นี้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถแวะมารับประทานอาหาร ซื้อหาสินค้า และสัมผัสวิถีชาวจีนแคะห้วยกระบอก

ภาพที่ 3 ระบบเครือข่ายคุณค่าจากการท่องเที่ยว

          จากภาพที่ 3 ระบบเครือข่ายคุณค่าจากการท่องเที่ยวที่ผมยกขึ้นมาอธิบายได้ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงตลาดห้วยกระบอกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องมีการใช้จ่ายเงินก็คือ การซื้อหาอาหารหรือการไปรับประทานอาหารในร้านอาหารที่ขายอยู่ในตลาดห้วยกระบอก ซึ่งร้านอาหารก็ต้องนำเงินไปซื้อวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัวไข่ไก่พืชผักผลไม้จากตลาด พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็จะมีรายได้ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเหล่านี้ ก็ต้องนำเงินไปซื้อพืชผลการเกษตรจากเกษตรกร เกษตรกรก็มีรายได้มากขึ้น

          ในขณะเดียวกัน เมื่อพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ร้านอาหารต่างๆหรือเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ก็ต้องมีการซื้อหาสินค้าที่จำเป็น ก็ต้องไปซื้อของจากร้านค้าที่อยู่ในตลาดห้วยกระบอก ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับการท่องเที่ยว แต่ได้รับผลประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นที่เกิดมาจากการจ่ายเงินของนักท่องเที่ยวที่มาจากภายนอก
และที่สำคัญ ยังรวมไปถึงการจ้างงานเพราะเมื่อมีการขยายตัว มีความต้องการสินค้า อาหาร และข้าวของอื่นๆ ร้านค้าอาจจะต้องมีการจ้างคนงานเพิ่มขึ้น ผู้คนที่ไม่ได้มีอาชีพหลัก ก็สามารถมีรายได้อันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

          แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากชาวห้วยกระบอกและพื้นที่ใกล้เคียงทุกคน อย่าลืมจุดเริ่มต้นที่เราขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อต้องการฟื้นฟูและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของวิถีจีนแคะห้วยกระบอก ปัจจัยเรื่องเงินหรือผลตอบแทนให้เป็นเพียงผลพลอยได้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น  เพราะเมื่อเราสามารถรักษา และยึดมั่นในจุดเริ่มต้น รายได้ทางเศรษฐกิจ หรือเม็ดเงินจากภายนอกจะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้นไม่ว่าใครก็สามารถได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ทุกคน

          ท้ายสุดนี้ สิ่งที่เราพูดถึง การท่องเที่ยวที่มีความสมดุล นั่นหมายความว่า เราไม่ได้มองเพียงรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่เรามองถึงความเข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชนรวมไปถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่นเดิมหากท่านใดมีข้อแนะนำ ติชม หรือสอบถาม สามารถส่ง email ได้ที่ psiwarit@gmail.com​ ด้วยความยินดีครับ







สงวนลิขสิทธิ์ © 2562 สามารถนำไปอ้างอิงได้แต่ขอความกรุณาอ้างอิงที่มา

#วิถีจีนแคะห้วยกระบอก #TBMCE

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand