Monday 10 March 2014

กรณีเที่ยวบิน MH370 กับ Guerilla Strategy ของมาเลเซีย

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          สวัสดีครับทุกท่าน ขณะที่ผมเขียนเรื่องนี้ เราก็ยังไม่ทราบชะตากรรมของเครื่องบินของสายการบิน Malaysian Airline เที่ยวบิน MH370 ที่สูญหายไปจากหน้าจอเรดาห์บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทยแถบน่านน้ำของมาเลเซียและเวียดนาม ผมก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้โดยสารทุกท่านในเที่ยวบินดังกล่าว แต่ที่ต้องเขียนเรื่องนี้เพราะว่าขณะนี้ทางการมาเลเซียเองแทนที่จะมีการทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกลับพยายามใช้กลยุทธ์ Guerilla Attack การท่องเที่ยวบ้านเรา เนื่องจากไทยกับมาเลเซียกำลังขับเคี่ยวกันเพื่อเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียน เป็นที่น่าเสียดายที่ชาวไทยหลายล้านคนต่างให้ความสนใจและเห็นใจ รวมทั้งเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทางการมาเลเซียกลับฉวยโอกาสโยนระเบิดเรื่องการเป็นดินแดนแห่งการก่อการร้ายให้กับประเทศไทย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมยอมไม่ได้ในฐานะคนไทย และนักวิชาการชาวไทยที่ทำงานด้านการตลาด และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภาคใต้
          ก่อนที่จะกล่าวถึงการเล่นกลยุทธ์กองโจร (Guerilla Strategy) ของมาเลเซีย ผมขอกล่าวถึงการแข่งขันด้านตลาดการท่องเที่ยวในอาเซียนที่ตามความเป็นจริงและจากสถิติของหลายค่ายระบุว่า ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทางการท่องเที่ยวของมาเลเซียระบุว่ามาเลเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด จากข้อมูลงานวิจัยที่ผมและคณะได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นระบุว่าจากข้อมูลสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวนั้น พบว่า ประเทศมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมากที่สุด รองลงมาคือประเทศไทย และสิงคโปร์ตามลำดับ อย่างไรก็ตามข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซียที่มีจำนวนมากถึง 24.7 ล้านคนนั้นเป็นการรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามแดนในชายแดนไทย รวมไปถึงการเดินทางไปมาระหว่างผู้ที่อาศัยในแถบชายแดนไทย มาเลเซีย และการเดินทางจากเมืองไทยไปประเทศสิงคโปร์ จึงทำให้ตัวเลขการท่องเที่ยวของมาเลเซียสูงกว่าประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์จากรายได้จากการท่องเที่ยวพบว่า ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 26.256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มาเลเซียมีรายได้จากการท่องเที่ยว 18.259 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงคโปร์มีรายได้จากการท่องเที่ยว 17.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับหนึ่งทางการท่องเที่ยวในอาเซียน ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงต้องการที่จะแย่งชิงความเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค
ที่มา: www.manager.co.th 

สำหรับเรื่องการสูญหายของเครื่องบิน ผมคงไม่กล่าวถึงเพราะไม่ใช่ประเด็นสาระในเรื่องที่จะเขียนนี้ เรื่องที่เป็นประเด็นคือ หลังจากการสูญหายของเครื่องบินแล้วพบว่ามีผู้โดยสารเดินทางโดยพาสปอร์ตที่ถูกขโมย หรือสูญหายในประเทศไทย ซึ่งมีข่าวออกมาบอกว่าสูญหายที่จังหวัดภูเก็ต และในขณะเดียวกันทางการมาเลเซียได้ตำหนิด่านตรวจคนเข้าเมืองว่าปล่อยให้ผู้ถือหนังสือเดินทางที่หน้าตาออกไปทางเอเชียแต่ถือพาสปอร์ตออสเตรียและอิตาลี ก่อนที่ในภายหลังจะมีข่าวออกมาว่าทางการมาเลเซียเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายโดยได้ร่วมมือกับ FBI และหน่วยงานต่าง ๆ ในการสอบสวนเรื่องนี้ พร้อมทั้งโยนปัญหาให้กับประเทศไทยว่าเป็นแหล่งต้นตอของการก่อการร้าย ซึ่งสามารถติดตามเพิ่มเติมได้จากข่าวที่ปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่าง ๆ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000027557 กลายเป็นว่าประเทศไทยถูกสร้างภาพที่น่ากลัวจากนานาชาติอีกครั้งจากเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย หากจะถามถึงประเด็นนี้เรื่องพาสปอร์ตหาย ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนหนึ่งจะทำพาสปอร์ตของตนเองสูญหาย หรือมีการขโมยสัมภาระของนักท่องเที่ยว และหนึ่งในสิ่งของที่สูญหายไปนั้นคือ พาสปอร์ต แต่การสูญหายพาสปอร์ตไม่ใช่ปัญหาเรื่องนี้ ปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ว่าทางการมาเลเซียปล่อยให้ผู้ที่ถือพาสปอร์ตที่ไม่ใช่ของตนเองโดยสารขึ้นเครื่องได้อย่างไร หากใครเคยเดินทางไปต่างประเทศหรือแม้กระทั่งภายในประเทศเองจะพบว่ามีหลายส่วนที่ต้องมีการตรวจสอบพาสปอร์ตหรือเอกสารระบุอัตลักษณ์ตัวตนของผู้โดยสารตั้งแต่การ Check In การเข้าประตูเพื่อตรวจหนังสือเดินทาง การเดินเข้าประตูก่อนขึ้นเครื่อง แล้วเหตุการณ์นี้เป็นไปได้อย่างไรที่คนถือพาสปอร์ตคนอื่นจะสามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก
          สิ่งที่ผมเสียใจมากกว่าการสูญเสียในครั้งนี้คือ แทนที่ทางการมาเลเซียจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นกลับพยายามที่จะโยนเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องก่อการร้ายที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมในฐานะเป็นแหล่งรวมของอาชญากรรม ผมมองในเชิงนักการตลาดที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ผมเชื่อว่าทางมาเลเซียรู้ว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกหรืออเมริกามีความอ่อนไหวหรือเปราะบางกับเหตุการณ์ก่อการร้าย การเชื่อมโยงประเด็นก่อการร้ายในครั้งนี้กับศูนย์กลางอาชญากรรมของประเทศไทยย่อมหวังผลทำให้นานาชาติกังวัลและประกาศเตือนพลเมืองของตนเอง แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองก็ตาม ในกรณีนี้ การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนควรให้ความสำคัญกับคุณค่าของนักท่องเที่ยวและสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ มากกว่าการออกข่าวที่จะส่งผลกระทบต่อคู่แข่งขัน สิ่งที่เสียใจมากอีกประเด็นหนึ่งคือ ไทย มาเลเซียคือเพื่อนบ้านกัน หากไม่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้านแล้ว ชีวิตหรือความเป็นอยู่ย่อมไม่เป็นสุข รวมทั้งชาวไทยเราก็รู้สึกเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะไม่มีชาวไทยอยู่บนเครื่องนั้นก็ตาม ดังนั้น ผมฟันธงเลยว่าทางการมาเลเซียกำลังเดินผิดทางที่ใช้กลยุทธ์กองโจร (Guerilla Attack) ด้วยการสร้างภาพที่น่ากลัวให้กับเมืองไทย แต่ในขณะเดียวกันในยุคสังคมข่าวสารแบบออนไลน์ นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลและตัดสินใจได้โดยไม่ต้องอาศัยข้อความโฆษณาของธุรกิจ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพราะความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ การต้อนรับที่อบอุ่นประทับใจ รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ตและนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความฉลาดมากกว่าที่จะเชื่อข่าวปล่อยต่าง ๆ การตลาดแบบนี้รังเสียแต่จะย้อนศรกลับไปปักอกคนปล่อยเองและเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ยั่งยืน ท้ายสุดนี้หวังว่าเราทุกคนคงได้แต่เอาใจช่วยทีมค้นหาให้สามารถพบเครื่องบินและสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

          เช่นเดียวกันกับทุกฉบับที่ผ่านมา หากท่านผู้อ่านมีประเด็นหรือข้อแนะนำเพิ่มเติม ด้วยความยินดีครับ ส่ง email มาที่ psiwarit@gmail.com ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ

Siwarit Valley 2014 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand