Wednesday 22 October 2014

หมดยุค Number One

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          สวัสดีครับทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งครับ ผมตั้งใจและสัญญากับตัวเองว่าจะพยายามเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ให้มากและบ่อยที่สุดเพื่อนำเสนอมุมมองการตลาดใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ วันนี้หลายท่านเห็นผมจั่วหัวเรื่องหมดยุค Number One อาจจะสงสัยหรืองงว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ เรื่องนี้ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่หลายท่านสามารถรับรู้ได้จากการเปลี่ยนแปลงรอบ ๆ ตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คิดง่าย ๆ ว่าเมื่อช่วงระยะเวลา 10 – 20 ปีก่อน การเรียนของบ้านเรามุ่งเน้นอย่างมากที่จะต้องเป็นที่ 1 ใครทำอะไรได้ที่ 1 คนนั้นจะเป็นคนที่สุดยอด และก็มีค่านิยมนี้มาถึงในปัจจุบัน แต่อาจจะลดระดับความเข้มข้นลดลงไม่เหมือนในอดีตบ้าง หลายท่านอาจจะบอกแล้วมีอะไรแปลกหรือครับ ใคร ๆ ก็อยากจะเป็นที่ 1 ทั้งนั้น ผมบอกได้เลยครับว่าไม่แปลกหรอกครับ เพราะในมิติวัดความเก่งหรือความดี หรือความสามารถเป็นที่ 1 ต้องดีอยู่แล้ว แต่ที่ผมพยายามจะบอกในวันนี้คือ ความเป็นที่ 1 หมดยุคแล้วครับที่จะนำมาเป็นจุดขายทางการตลาดต่างหาก ตามผมมาครับแล้วผมจะเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงหมดยุคแล้ว
          ปัจจัยแรกที่ทำให้ Number One หรือที่หนึ่งไม่ได้รับความสำคัญทางการตลาดแล้วก็คือ ลูกค้าในยุคนี้ เชื่อคนขายหรือเชื่อคำบอกเล่าของนักการตลาดน้อยละ เพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่รับรู้ว่าคนขายต้องพยายามบอกว่าตัวเองดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ เพื่อหวังผลให้ขายได้ แต่อาจจะมีคนชอบอะไรที่เป็นที่หนึ่งก็จะเชื่อคนขาย เรื่องนี้ คุณผู้หญิงหลายท่านที่แต่งงานแล้วสามารถตอบได้ครับ หลายคนเริ่มสงสัยแล้วเกี่ยวอะไรกับผู้หญิงเรื่องการตลาดนี่ ทำไมไม่เกี่ยวครับ ผมเปรียบเทียบง่าย ๆ ได้เลยครับว่าผู้หญิงคือ ลูกค้า ส่วนผู้ชายคือ สินค้า จากที่ผมเห็นส่วนใหญ่แล้วฝ่ายหญิงจะรับรักฝ่ายชายด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น เป็นผู้ชายอารมณ์ดีอยู่แล้วมีความสุข เป็นผู้ชายที่เป็นผู้นำสามารถฝากชีวิตไว้ได้ เป็นเพื่อนคู่ชีวิตที่อบอุ่นและมั่นคง เป็นต้น อาจจะมีส่วนน้อยหรือไม่มีเลยที่จะบอกว่าเพราะว่าเป็นผู้ชายที่เป็นที่หนึ่ง สอบได้ที่หนึ่ง ทำงานได้ที่หนึ่ง วิ่งได้ที่หนึ่ง ใช่ไหมครับ แล้วตอนที่จะบอกเลิกแฟน คำพูดของคุณผู้หญิงที่ยอดฮิตคืออะไรครับถ้าไม่ใช่ “เพราะเธอดีเกินไป” นี่ไงครับเห็นไหมครับ ดีเกินไป แล้วดีเกินไม่ดีหรือไงครับ จากตัวอย่างที่ผมยกให้ฟังนี่ ลูกค้าเลือกจากอะไรครับ อารมณ์และความสุข (ผู้ชายอารมณ์ดี) ความมั่นคง (ผู้ชายที่เป็นผู้นำ ฝากอนาคตไว้ได้) หรือ อารมณ์ (อบอุ่นและมั่นคง) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการโฆษณาชวนเชื่อ แต่มาจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ยิ่งในยุคนี้ยุค Social Network การกระทำที่ไม่ดีอย่างไรไม่สามารถปกปิดลูกค้าได้ครับ
          นอกจากการไม่เชื่อคำบอกกล่าวของคนขายแล้ว ลูกค้าในยุคปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Value) มากกว่าคุณค่าที่จับต้องได้ (Tangible Value) ผมขอยกตัวอย่างที่ชัดเจนและผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านก็ต้องคิดแบบผม เคยไหมครับเวลาเราเห็นผู้หญิงสวย ๆ ระดับนางงามเดินผ่านมากับผู้ชายหน้าตาธรรมดาถึงแย่ ผู้อ่านที่เป็นผู้ชายหลายท่านคิดไปต่าง ๆ นานาว่าผู้ชายคนนี้ต้องมีอะไรดีแน่ อาจจะบ้านรวย หรือต้องดีจริง ๆ บางคนคิดไปพลางว่าเรายังหล่อกว่าเลย เช่นเดียวกัน ในกรณีที่ผู้ชายหล่อมาก ๆ เดินกับหญิงสาวหน้าตาธรรมดา ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงก็ต้องคิดเช่นเดียวกันกับกรณีด้านบน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เห็นในปัจจุบัน เห็นไหมครับเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เวลาปกติอาจจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่จับต้องได้ แต่ถึงเวลาต้องเลือกจริง ๆ แล้วจะให้ความสำคัญกับคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ และคุณค่าหรือผลประโยชน์ของลูกค้านี่แหละครับตัวดีเลยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกมาก ๆ เช่นเดียวกันกับการทำการตลาดหรือการสร้างตราสินค้า ลูกค้าจะมองหาว่าแล้ว “คุณค่า” หรือผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับการใช้ บริโภค หรือครอบครองสินค้าหรือบริการนั้น ๆ คืออะไร แล้วลูกค้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ หากเราบอกแต่ว่าเราดีที่สุด ผนวกกับกรณีแรก เมื่อเราบอกว่าเราดีที่สุด สิ่งที่ลูกค้ารู้สึกอันดับแรกเลยคือ ความคลางแคลงใจและจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งในยุคนี้ ข้อมูลเหล่านี้หาได้ไม่ยากครับ และแน่นอนครับเราไม่สามารถปกปิดตัวตนของเราเองได้ครับ


ที่มา: www.aphonda.co.th

          มาถึงตรงนี้ หากผมไม่บอกต่อว่าแล้วจะทำอย่างไรล่ะครับถ้าจะไม่บอกว่าเราเป็นที่หนึ่ง ไม่ยากครับ จากกรณีแรกที่ผมยกตัวอย่างการตัดสินใจเลือกซื้อจากอารมณ์ความรู้สึก หรือการรับรู้ถึงคุณค่าที่จับต้องไม่ได้นั้น ไม่ได้มาจากคำพูดเพียงไม่กี่คำครับ แต่มาจากการกระทำ หรือการบอกเล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่องจนลูกค้ารับรู้และเข้าใจถึงตัวตนของเราครับ หลายท่านอาจจะแย้งว่าเล่าเรื่องใครก็เล่าได้ แต่งเรื่องนิดเดียวทำได้ง่ายมาก อันนี้ต่างกันนะครับ เพราะสิ่งที่เรานำไปเล่าให้กับลูกค้า ต้องเป็นเรื่องจริงนะครับ ตัวตนของสินค้าหรือบริการจริง ๆ ของเรา คุณภาพและมาตรฐานต้องได้ตามกำหนด แต่จุดขายหรือผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับนี่แหละครับคือสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุผลนี้ครับ ผมถึงบอกว่าหมดยุค Number One แล้วครับ เพราะลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะคำว่าดีที่สุดตามคำพูดของคนขาย แต่ลูกค้าซื้อสินค้านั้นเพราะเชื่อมั่นว่าสินค้าหรือบริการนั้นสามารถให้คุณประโยชน์ตามที่ลูกค้าต้องการได้ และการทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นนั้นคงไม่ใช่เพียงแค่พูดซ้ำ ๆ ว่า “เราดีที่สุด” “เราดีที่สุด” ครับ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ รถจักรยานยนต์ Honda Scoopy i ที่ในอดีต 4 – 5 ปีก่อน ตลาดรถจักรยานยนต์หัวฉีดเป็นของ Yamaha Fino แต่ Scoopy i พยายามต่อสู้และวางกลยุทธ์การตลาดจากการเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดรถจักรยานยนต์เป็นการนำเสนอผ่านความเป็นผู้นำของกลุ่มวัยรุ่นที่มีการใช้ชีวิตอิสระมีสไตล์ผ่านผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ Honda Scoopy i และให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสค้นหาเรื่องราวดี ๆ ของ Scoopy i ผ่านการประกวดแผนการตลาด Marketing Plan Contest ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผู้เข้าประกวดที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายย่อมต้องการชัยชนะ และต้องการเขียนแผนการตลาดให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของกรรมการ ดังนัน จึงมีการหาจุดแข็งของ Scoopy i เปรียบเทียบกับคู่แข่งขันรายอื่น ๆ โดยแน่นอนครับ ธรรมชาติของคนเราที่ต้องพยายามหาสิ่งดี ๆ ของสิ่งที่เราเชียร์หรือสนับสนุนอยู่ และมองให้เห็นจุดอ่อนของคู่แข่งขัน เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกย้ำเตือนในใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ความลำเอียง (bias) ไปยังสิ่งที่เราสนับสนุนจึงมีโอกาสเกิดมาก และในที่สุด Honda Scoopy i กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างมากและเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์หัวฉีดในปัจจุบัน
ท้ายสุดครับ หมดยุค Number One ไม่ได้หมายความว่าเราจะหมดโอกาสการเป็นที่ 1 ครับ เป็นที่หนึ่งของตลาดเป็นสิ่งที่ต้องทำครับ แต่คำว่าหมดยุค Number One หมายถึงการหมดยุคการโฆษณาว่าเราดีที่สุด เราเป็นที่หนึ่งครับ ยุคนี้เราต้องบอกว่าเราจะทำอะไรให้กับลูกค้าได้ครับ นี่แหละครับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เสียดายครับ พื้นที่หมดลงแล้วผมจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ ครั้งหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังว่าแล้วเราจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างไรครับ และเช่นเคย หากท่านผู้อ่านมีประเด็นหรือข้อแนะนำเพิ่มเติม ด้วยความยินดีครับ ส่ง email มาที่ psiwarit@gmail.com ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ

Siwarit Valley 2014 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

Wednesday 1 October 2014

เข้าใจเกมก่อนลงแข่งขัน

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
         
สวัสดีครับทุกท่าน เผลอแว้บเดียวเราก็เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2557 แล้วครับ ตอนที่แล้วผมพูดถึงกรณีของสิงคโปร์กับงานสงกรานต์ไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและความเป็นของแท้ (Authenticity) อย่างไรก็ตามในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือการค้าระหว่างประเทศ สิ่งที่สำคัญที่เราจะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันคือ เราต้องรู้ถึงสถานการณ์ และมีการกำหนดจุดยืนทางการแข่งขันเพื่อเป็นการกำหนดเกมในการแข่งขัน ซึ่งหากพิจารณาจากตำราพิชัยสงครามที่นักกลยุทธ์นำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนธุรกิจ การกำหนดจุดยืนเปรียบเสมือนการกำหนดชัยภูมิที่เรามีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน หรือเป็นพื้นที่ที่คู่แข่งขันต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากในการดำเนินการ แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ ตัวเราเองก็ต้องเข้าใจด้วยว่าในชัยภูมิหรือจุดยืนนั้น ๆ มีเงื่อนไขอย่างไรก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์หรือวิธีการดำเนินการได้ โดยในทางธุรกิจ เราเองต้องเข้าใจเกมในการแข่งขัน หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ในการแข่งขันทั้งด้านพื้นฐาน ด้านยุทธศาสตร์ หรือเป้าหมายในอนาคต

          หากจะธิบายถึงเรื่องนี้ต้องอธิบายโดยใช้รูปวงกลมหลาย ๆ สีนี้มาอธิบายครับที่ธุรกิจแต่ละแห่งต้องตอบคำถามตัวเองให้เข้าใจและอธิบายทีมงานทั้งหมดให้เห็นภาพเดียวกันอย่างชัดเจนครับ รูปซ้ายมือนี้ วงในสุดสีแดงเปรียบเสมือนแก่นหรือกระพี้ของต้นไม้ ซึ่งก็คือ สิ่งที่ท่านกำลังดำเนินการว่าคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น กรณีของโรงพยาบาล แก่นของธุรกิจคือ การรักษาพยาบาล วงกลมสีเหลืองวงต่อไปคือ ลักษณะโดยทั่วไปที่จำเป็นต้องมีในการให้บริการลูกค้า นั่นคือ โรงพยาบาลจะต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ เตียง ห้องพัก เครื่องมือแพทย์ ที่พักคอย ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ที่จอดรถ ฯลฯ โดยวงกลมวงแรกและวงกลมวงที่สองนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า The Must นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดหรือหน่วยงานใดที่ดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ จะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ และหากจะถามว่าไม่มีได้ไหม คำตอบมีคำตอบเดียวคือ ไม่ได้ครับ อย่างไรก็ตามวงกลมสองวงนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นตัวชี้วัดชัยชนะ แต่ถ้าท่านไม่มีเหมือนคู่แข่งขัน ท่านก็แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงแข่งครับ หรือกล่าวได้ว่าในการดำเนินธุรกิจองค์ประกอบเหล่านี้ในวงกลมสองวงคือ หลักการพื้นฐานที่ต้องมี ถ้าในการจัดการทั่วไป ส่วนนี้ก็จะคือ 4Ms ได้แก่ Man Money Material Management ซึ่งในการจัดการสมัยใหม่ที่อาศัยทฤษฎีด้านทรัพยากร (resource-based theory) เป็นแนวทางในการวิเคราะห วงกลมสองวงนี้เปรียบเสมือนทรัพยากรที่ถูกดำเนินการ (Operand Resources) ที่ Vargo and Lusch (2004) ได้กล่าวว่าเป็นทรัพยากรที่ไม่มีไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช้ทรัพยากรที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นทรัพยากรหรือสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดที่แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกันนี้ล้วนแต่รู้และเข้าใจว่าจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ส่วนประสมทางการตลาดก็จัดว่าเป็นทรัพยากรในส่วนนี้ ซึ่งการมีส่วนประสมทางการตลาดที่ดีไม่ได้เป็นหลักรับประกันว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันส่วนประสมทางการตลาดของธุรกิจประเภทเดียวกันไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่จะเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะคือ ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) ที่หมายความถึง ทักษะ ความชำนาญ ความรู้และประสบการณ์ของธุรกิจที่สามารถเข้าใจเกมในการแข่งขันและกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ด้วยเหตุนี้ วงกลมต่อไปที่เป็นสีฟ้าอันนี้เริ่มสำคัญเพราะจะเป็นสิ่งที่ท่านต้องใช้ศักยภาพของท่านหรือบุคลากรของท่านอย่างมากในการที่จะรับรู้หรือตระหนักถึงความคาดหวังหรือการให้คุณค่าของลูกค้าท่านดังที่ผมกล่าวไปก่อนหน้านี้ถึงกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า (Value Co-Creation) ที่ปัจจุบันหลายบริษัทได้นำแนวคิดนี้มาใช้ ซึ่งแนวคิดนี้เมื่อสี่ปีก่อนตอนผมกลับมาจากประเทศอังกฤษพูดออกไปมีแต่คนว่าผมพูดอะไร เลยต้องเขียนไว้ในหนังสือหลักการตลาดที่ผมใช้สอนลูกศิษย์ โดยวงสีฟ้านี้จะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง ย้อนกลับมาในเรื่องของโรงพยาบาล ลูกค้าคาดหวังอะไรครับ ซึ่งอาจจะเป็นความรวดเร็วในการบริการ บรรยากาศดี ซึ่งในบางธุรกิจเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นลักษณะโดยทั่วไปของธุรกิจแล้วก็ได้เพราะเมื่อลูกค้าได้รับสิ่งที่คาดหวังเป็นประจำ ความประทับใจจะค่อย ๆ ลดลง เพราะลูกค้าจะรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับ ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังจากลายเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการโดยปริยาย ดังเช่นสมัยก่อนที่ ถุงลมนิรภัย แอร์ วิทยุ ล้อแม็กซ์ เป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่มีไม่ได้แล้ว
            
ที่มา: http://dentyomarajconference.blogspot.com/2012/05/blog-post.html

สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังอาจจะรวมไปถึงการบริการระดับห้าดาว wifi ฟรีในโรงพยาบาล พื้นที่นันทนาการของเด็ก ๆ เป็นต้น วงกลมนี้จะเกี่ยวข้องกับลูกค้าโดยตรงที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการใช้บริการที่ท่านต้องค้นหาและตอบสนองให้ได้ ซึ่งวงกลมวงนี้จะประสมประสานกับวงกลมวงต่อไปสีม่วงในด้านการเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นั่นคือ การเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า กรณี้นี้ หลายธุรกิจหรือหลายองค์กรอาจจะคิดว่าทำเพิ่มแล้วต้องรับภาระเรื่องต้นทุน แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มคือลูกค้า เพราะหากเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความคาดหวังหรือความต้องการ ลูกค้าย่อมเต็มใจที่จะจ่ายอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือ นักการตลาดต้องเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่าร่วมกัน สิ่งที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าย่อมได้รับแต่ลูกค้าก็ต้องพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อสิ่งนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น การที่โรงพยาบาลศิริราชมีการเปิด Medical Hub ที่มีการให้บริการแบบเอกชนโดยมีระดับการบริการที่มีมาตรฐานสูงและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในกรณนี้ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อรับบริการ ซึ่งส่วนนี้เป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอันเนื่องมาจากโรงพยาบาลศิริราชมีจุดแข็งด้านอาจารย์แพทย์และค่าบริการถูก แต่ความสามารถในการทำกำไรต่ำทำให้บุคลากรต้องไหลออกไปภาคเอกชนมากขึ้น เมื่อมีการดำเนินการเช่นนี้แล้วทำให้โรงพยาบาลศิริราชสามารถแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ ได้ วงกลมวงสุดท้ายคือ การแสดงออกถึงศักยภาพของท่านให้ลูกค้าเห็น ในกรณีโรงพยาบาลคือการดำเนินการวิจัยทางการแพทย์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบุคลากรในมุมมองของลูกค้า

ท้ายสุดนี้การทำความเข้าใจกับวงกลมทั้งห้าวงนี้จะทำให้ท่านสามารถเข้าใจเกมในการแข่งขันว่าสิ่งที่ท่านกำลังดำเนินการอยู่นั้น อะไรเป็นสิ่งที่ท่านต้องมี อะไรเป็นสิ่งที่ท่านควรมีเพิ่มเติมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเช่นเคย หากท่านผู้อ่านมีประเด็นหรือข้อแนะนำเพิ่มเติม ด้วยความยินดีครับ ส่ง email มาที่ psiwarit@gmail.com ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ

Siwarit Valley 2014 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand