Saturday, 23 August 2014

งานสงกรานต์สิงคโปร์กับชาตินิยม

ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์
หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          สวัสดีครับทุกท่าน ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้หลายเดือนแล้วตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่มีข่าวที่น่าสนใจจากเพื่อนบ้านร่วมอาเซียนของเราอีกประเทศหนึ่งนั่นคือ สิงคโปร์ที่ประกาศจัดงานสงกรานต์ในวันที่ 12 – 13 เมษายน 2557 และมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศสิงคโปร์ในช่วงวันเวลาดังกล่าว หลังจากที่ข่าวนี้ปรากฎออกไป กระแสการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เกิดขึ้นทันที กลุ่มที่รักและหวงแหนวัฒนธรรมไทยบอกว่า สงกรานต์เป็นของไทยเรา สิงคโปร์จะจัดได้อย่างไร ขณะที่อีกกลุ่มก็บอกว่าสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน พม่า ลาว กัมพูชาก็มีงานประเพณีสงกรานต์เช่นเดียว กล่าวถึงตรงนี้ผมนึกถึงงานวิจัยที่ผมได้ทำร่วมกับคณาจารย์ในต่างประเทศในหัวข้อ Left Behind: Global Brand of Local Fan ที่เป็นเรื่องราวของแฟนฟุตบอลสโมสรลิเวอร์พูลในประเทศอังกฤษที่หวงแหนสโมสรลิเวอร์พูลเช่นเดียวกันกับที่ชาวไทยกำลังหวงแหนประเพณีสงกรานต์ ดังนั้น Siwarit Valley ในวันนี้คงต้องกล่าวถึงทั้งสองกรณีเพื่อยกเป็นกรณีตัวอย่าง

          ในงานวิจัยเรื่อง Left Behind: Global Brand of Local Fan ผมต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองลิเวอร์พูลประเทศอังกฤษ เมืองที่ผมรักเป็นเมืองที่สองรองจากประเทศไทย ผมใช้เวลาอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูลหลายช่วงเวลา ต้องเข้าไปในผับในเมืองลิเวอร์พูล ไม่ว่าจะเป็น The Park ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามแอนฟิลด์ของสโมสรลิเวอร์พูล หรือ The Sandon ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งสโมสรเอฟเวอร์ตัน และลิเวอร์พูล นอกจากนี้ ผมต้องผจญกับชีวิตที่ลำบากในการเข้าไปชมฟุตบอลในสนาม ทั้งที่ซื้อตั๋วเอง และได้รับการอนุเคราะห์จากเบียร์ช้าง สปอนเซอร์ของเอฟเวอร์ตัน รวมถึงการพูดคุยกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่เป็นคนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากงานวิจัยนี้ คือ ผมพบกับคนสามกลุ่ม
กลุ่มแรก ผมให้ชื่อว่า “Fansumer” ซึ่งผมนิยามมาจากคำว่า “Fan” และ “Consumer” ที่หมายความถึงลูกค้าของสโมสรลิเวอร์พูลที่มีอะไรมากกว่าลูกค้าธรรมดา มีความรัก ความผูกพัน ตลอดจนมิตรภาพที่ดีกับสโมสรลิเวอร์พูล คนกลุ่มนี้ดีใจที่เห็นแฟนบอลทั่วโลกชื่นชอบสโมสรลิเวอร์พูล และดีใจทุกครั้งที่เห็นแฟนบอลชาวเอเชีย เนื่องจากแฟนกลุ่มนี้จะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่ระลึกในร้านค้าของสโมสร และที่สำคัญ Fansumer เชื่อว่าปัจจุบันลิเวอร์พูลไม่ใช่สโมสรฟุตบอลระดับท้องถิ่นในประเทศอังกฤษแต่เป็นสโมสรฟุตบอลในระดับโลก ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การขยายฐานแฟนบอลออกไปให้มากที่สุด และท้ายที่สุดแฟนบอลกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าของสโมสรและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สโมสรลิเวอร์พูลมีความสามารถในการแข่งขัน คนกลุ่มนี้มีมุมมองเพียงแค่ว่าแฟนบอลชาวเอเชียหรืออื่น ๆ จะซื้อสินค้า จ่ายเงินให้กับสโมสร หรือรักลิเวอร์พูลมากน้อยเพียงใด
กลุ่มสอง กลุ่มนี้เป็นพวกสุดโต่ง ชาตินิยม และเป็นชาวลิเวอร์พูลแท้ ๆ ที่เกิดและเติบโตที่เมืองลิเวอร์พูลหรือที่เรียกตัวเองว่า Scouser แท้ ๆ ผมให้ชื่อคนกลุ่มนี้ว่า “Hardcorer” ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนพันธ์แท้ที่จะออกแบบหัวรุนแรงนิด ๆ ประเภทลิเวอร์พูลของข้าใครอย่าแตะ คนกลุ่มนี้เชื่อว่า สโมสรลิเวอร์พูลเกิดขึ้นที่เมืองลิเวอร์พูล คนที่จะเชียร์สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลได้จะต้องเป็นคนท้องถิ่นเท่านั้น ประเภทที่มีเงิน ซื้อตัวเครื่องบิน และซื้อตั๋วมานั่งขอบสนาม ไม่ใช่แฟนพันธ์แท้และไม่คู่ควรต่อการเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล ดังนั้น แฟนกลุ่มฮาร์ดคอร์นี้จะต่อต้านแฟนบอลหัวดำแบบผม คนกลุ่มนี้มีเยอะหรือไม่ ผมว่าเยอะ ใครผ่านไปแถวนั้นลองเข้าไปดูแบบผับ The Sandal ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสโมสร ผมเคยเจอประสบการณ์สองครั้ง ครั้งแรก ไม่รู้ไปรอไหนไปยืนรอหน้าผับเลยถูกวัยรุ่นท้องถิ่นมาก่อกวนดีแฟนรุ่นเก๋ามาเคลียร์ให้ กับอีกครั้ง เข้าไปตอนบอลดาร์บี้แมทช์ ผมถูกเชิญออกจากผับเพราะตอนเก็บข้อมูลมีกล้องทั้งวีดีโอและภาพนิ่ง แฟนบอลกลุ่มนี้เลยคิดว่าเป็นนักข่าวจะมาสอดแนม จะมาค้นกระเป๋าผมเลยรีบเดินออกมา โดยสรุป คนกลุ่มนี้ไม่ต้อนรับแฟนบอลต่างชาติ ทั้งนี้ผมวิเคราะห์ได้ว่าคนกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ทางฟุตบอล (Football Globalization) นั่นคือ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมฟุตบอลมากขึ้นและคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งไม่ใช่แฟนฟุตบอล ดังนั้น กลุ่มฮาร์ดคอร์จึงมีความรู้สึกต่อต้าน
กลุ่มสาม เป็นกลุ่มตรงกลางที่เห็นด้วยกับทั้งสองกลุ่มข้างต้น แต่ก็มีจุดที่ไม่เห็นด้วย ผมเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ผู้ประนีประนอม” (Compromiser) คนกลุ่มนี้เชื่อว่าลิเวอร์พูลไม่ใช่สโมสรท้องถิ่นอีกต่อไปเช่นเดียวกันกับกลุ่ม Fansumer และในขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็เชื่อว่าคนที่จะมาเชียร์ลิเวอร์พูลต้องมีความเป็นลิเวอร์พูลไม่ใช่ใครจะมาเชียร์ มีเงินซื้อตั๋วก็มานั่งชมข้างสนามทำนองว่ามาถึงแอนฟิลด์แล้วนะครับ แต่ต้องเป็นคนที่รับรู้ เข้าใจและปฏิบัติตามวัฒนธรรมและธรรมเนียมของแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูล ต้องบริโภคลิเวอร์พูลและเป็นแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลเช่นเดียวกันแฟนบอลลิเวอร์พูลที่เกิดในลิเวอร์พูล ในความหมายของกลุ่มผู้ประนีประนอม ต้องการให้แฟนบอลลิเวอร์พูลทั่วโลกบริโภคหรือเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลเช่นเดียวกันกับแฟนบอลที่เกิดและเติบโตในเมืองลิเวอร์พูล กลุ่มนี้ต้องการให้สโมสรลิเวอร์พูลเป็นเหมือนการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ได้รับความนิยมจากแฟนบอลทั่วโลกในรูปแบบของ Liverpudlian หรือแบบฉบับของชาวลิเวอร์พูลมีความเป็นหนึ่งในเชิงวัฒนธรรม หากจะกล่าวง่าย ๆ ได้ว่ายินดีต้อนรับแฟนบอลทุกคนที่รักและชื่นชอบสโมสรลิเวอร์พูล แต่ขออย่างเดียวคือ ต้องบริโภคลิเวอร์พูลให้ถูกต้อง และเข้าถึงแก่นแท้ (Embed) ของความเป็นลิเวอร์พูล
จากกลุ่มทั้งสาม หลายคนคงงงว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับงานสงกรานต์ที่สิงคโปร์จัดขึ้น เกี่ยวสิครับ สิ่งที่เกี่ยวคือ มิติด้านวัฒนธรรมที่เราเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่เหมือนกับสโมสรลิเวอร์พูลในแง่ของวัฒนธรรมการเป็นแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูล เรากำลังเป็นกลุ่มไหนในสามกลุ่มข้างต้น ที่แน่ ๆ จากที่เห็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผมเห็นทั้ง 3 กลุ่ม แต่กลุ่มไหนที่จะดีกับวัฒนธรรมไทยล่ะครับ กลุ่มแรก Fansumer กลุ่มนี้ผมว่าสุดโต่งไป ขอแค่สัมผัส แต่ไม่เข้าถึงวัฒนธรรม ประเภทมาแล้วนะ หรือได้ทำแล้วนะ ระยะยาววัฒนธรรมของเราจะถูกดัดแปลงเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงจนเพี้ยนไปจากของเดิม กลุ่มสอง Hardcorer ผมว่าอันนี้ก็สุดโต่ง จะปิดประเทศ หรือจะจำกัดกลุ่มเลือกบริสุทธิ์อย่างเดียว ตัวอย่างจาก Harry Porter ก็ชัดเจน ท้ายสุดทุกคนก็จะต้องอยู่ร่วมกัน และด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เราไม่สามารถจำกัดวัฒนธรรมเฉพาะของเราได้ทั้งวัฒนธรรมไทย หรือวัฒนธรรมแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูล แฟนบอลหรือคนในสถานที่อื่น ๆ ก็จะบริโภควัฒนธรรมนั้น ๆ ในแบบฉบับของตนเองที่อาจจะทำให้วัฒนธรรมนั้น ๆ ถูกบิดเบือน หรือเปลี่ยนแปลงไปก็ได้ แล้วแบบสุดท้าย กลุ่ม Compromiser กลุ่มนี้แหละครับที่จะทำให้วัฒนธรรมไทย หรือวัฒนธรรมแฟนบอลสโมสรลิเวอร์พูลมีการแพร่กระจายและถูกบริโภคอย่างถูกต้อง หรือกล่าวได้ว่า เราสามารถเพิ่มยอดลูกค้าหรือผู้ชื่นชมวัฒนธรรมของเราได้ซึ่งส่งในแง่เศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ยังคงสามารถรักษาวิถีหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องไว้ได้ ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า “Lobalization” ซึ่งเป็นกระบวนการเผยแพร่วัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่นที่ยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมนั้นไว้ได้ผ่านการเรียนรู้และเข้าถึง
ประเด็นของผมอยู่ที่ว่าถ้าเราต้องการที่รักษาวัฒนธรรมและประเพณี หรือเรื่องราวดี ๆ ของเรา เราก็ยิ่งต้องเปิดวัฒนธรรมของเราและสร้างการรับรู้ให้คนนอกรู้วิธีในการบริโภคหรือใช้ชีวิตภายใต้วัฒนธรรมของเรา ดังเช่นกรณีของแฟนบอลลิเวอร์พูลที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งในกรณีของงานประเพณีสงกรานต์ที่หากศึกษาอย่างลึกซึ้งจะพบว่างานประเพณีสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมของหลายประเทศ แต่ประเด็นที่สิงคโปร์นำไปจัดนั้น ฟันธงเลยครับว่าเป็นการฉวยโอกาสความนิยมในงานสงกรานต์ไปจัดเพราะสิงคโปร์ไม่ได้มีรากฐานวัฒนธรรมและประเพณีเหมือนประเทศอื่น ๆ ดังนั้น แทนที่เราจะต่อต้าน ประท้วง หรือต่อว่า เราสามารถฉวยโอกาสสร้างการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง สื่อสารทางตรงและทางอ้อมให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงเรื่องราวหรือตำนานที่แท้จริงของานสงกรานต์ที่มีอะไรมากกว่าการสาดน้ำหรือฉีดน้ำใส่กัน นำเสนอความงดงามของประเพณีท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยว ปล่อยให้สิงคโปร์จัดไปเถอะครับ ยิ่งมีคู่แข่งพยายามสร้างกระแส ยิ่งทำให้ความงดงามของประเพณีสงกรานต์ไทยโดดเด่นมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราคนไทยเองจะรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามของงานประเพณีสงกรานต์ไว้ได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เราพบเห็นในวันสงกรานต์มีตั้งแต่การใช้ปืนฉีดน้ำไล่ฉีดกัน การเต้นด้วยเพลงที่ตื่นเต้นเร้าใจ สาว ๆ นุ่งน้อยห่มน้อย ฯลฯ เราเองนี่แหละครับ ที่ต้องหันมาสร้างงานประเพณีสงกรานต์แบบไทยแท้ให้กลับคืนมา
เสียดายครับ พื้นที่หมดลงแล้วผมจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ และเช่นเคย หากท่านผู้อ่านมีประเด็นหรือข้อแนะนำเพิ่มเติม ด้วยความยินดีครับ ส่ง email มาที่ psiwarit@gmail.com ขอให้ทุกท่านมีความสุขครับ

Siwarit Valley 2014 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

No comments:

Post a Comment

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand