Sunday, 16 August 2009

งานวิจัยบนหิ้ง: ใช้ไม่เป็นหรืองานไม่มีประโยชน์?

วันนี้ขอประเดิมบล็อกด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการวิจัยที่เปรียบเสมือนเป็นปัญหาโลกแตก สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ไม่มีวันสิ้นสุด โดยเวลาพูดถึงเรื่องงานวิจัย ในบ้านเรามีปัญหาที่ต้องถกเถียงกันอยู่สองอย่างนั่นคือ งานวิจัยบนหิ้ง กับ การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ จากการวิจัยครับ

อันดับแรกคือ ภาคธุรกิจมักจะบอกว่างานวิจัยไทยอยู่บนหิ้งซะเป็นส่วนใหญ แถมบอกว่านักวิชาการทำงานไม่เป็น ทำแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวผมนะครับว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากมุมมองเห็นแก่ได้ อยากได้งานวิจัยแต่ไม่ลงทุน เพราะในต่างประเทศ ภาคธุรกิจจะตั้งงบประมาณการวิจัยและพัฒนาในจำนวนมากเพียงพอที่จะทำการวิจัยและพัฒนา หรือจ้างนักวิจัยมาวิจัยให้ อันนี้ในทางทฤษฎีเราอาจจะเรียกว่า applied research หรือ practical research ครับ อันนี้รับรองตรงประเด็น หรือชัดเจนกับธุรกิจครับ แต่งานวิจัยอีกแบบหนึ่งที่ทำโดยนักวิชาการ หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยแบบที่เป็นที่ถกเถียงในบ้านเรา เราจะเรียกว่า Academic Research เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยเชิงทฤษฎี เนื่องจากได้รับทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่กำหนดหัวข้อไว้แล้วเกี่ยวกับเชิงวิชาการ งานวิจัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือ งานวิจัยเชิงวิชาการครับ เพราะได้รับการจัดสรรทุนจากต้นสังกัด และจากหน่วยงานภายนอกเช่น สกว. หรือ วช. เป็นหลัก หากจะถามว่างานวิจัยเชิงวิชาการเหล่านี้มีประโยชน์หรือไม่ ผมยืนยันว่ามีครับ อยู่แต่ว่าภาคธุรกิจจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรเท่านั้นเอง ผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ใน class ป.โท เด็กการตลาด พอดีอาจารย์ผู้สอนเชิญเข้าไปร่วมอภิปรายด้วย โดยยกงานวิจัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการจดจำกลิ่นและตราสินค้า โดยมีหัวข้อว่าถ้าคุณเป็นนักการตลาด คุณจะซื้องานวิจัยนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่เด็กป.โทจะตอบว่าไม่เพราะไม่เป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจ แต่มีคนที่มีประสบการณ์ทำงาน ผมและอาจารย์เห็นในทางเดียวกันว่าซื้อครับ เพราะมีประโยชน์ต่อการนำไปกำหนดวางแผนกลยุทธ์การตลาด ทั้งการใช้กลิ่นในการโฆษณา ณ จุดขาย ซึ่งในการอภิปรายกันมีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ แต่ประเด็นคือ หลายคนมองไม่เห็นประโยชน์ในงานวิจัย อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเพราะในระบบการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะถูกสอนให้มองจุดด้อยของงานวิจัยมากกว่าหาประโยชน์ที่ได้รับ ทำให้เวลามองงานวิจัย อันดับแรกที่จะมองคือ งานนี้มีจุดอ่อนตรงไหน

ซึ่งประเด็นที่คนมองว่าไม่ซื้อเพราะไม่ตรงประเด็นก็ไม่ผิดครับ เพราะงานนี้ไม่ได้ทำเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ถ้าใครต้องการงานวิจัยตรงประเด็นก็หานักวิจัยมาทำ หรือตั้งหน่วยงานวิจัยภายในบริษัทครับ ที่สำคัญครับ งานวิจัยเชิงวิชาการกับภาคเอกชนเป็นปัญหาเดียวกับไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกันครับ บางประเด็น ภาคเอกชนก็ล้ำหน้า บางประเด็นภาควิชาการก็ล้ำหน้าครับ ต้องประสมประสานกันระหว่างสองภาคนี้ครับ

อันดับสอง เป็นเรื่องที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ครับเกี่ยวกับความใหม่ของงานวิจัย พอพูดอย่างนี้ผมเองก็เข้าใจผิดไปเหมือนกัน ตอนที่เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ได้ยินคำนี้บ่อยมาก เลยพาลมองว่าแล้วจะไปทำได้อย่างไร เพราะเราอยู่ทางสายสังคมศาสตร์ ไม่เหมือนสายวิทย์ เช่นพบ จุลินทรีย์ตัวใหม่ นกพันธ์ใหม่ ปลาพันธ์ใหม่ ยิ่งเห็นอ.ที่สนิทกันค้นพบปลาตีนพันธุ์ใหม่ของโลก หรืออ.อีกท่านก็ค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลกและได้มีสิทธิ์ตั้งชื่อสิ่งที่ค้นพบใหม่ด้วย ผมก็ยิ่งเครียดและสับสนว่าแล้วผมจะไปหาปลาตีนพันธ์ใหม่แบบไหนได้อย่างไร ถ้าแบบที่ไม่ใช่ปลาก็พอหาได้ แต่สำหรับสายสังคมจะทำอย่างไร

ผมมาเกิดพุทธิปัญญาก็เมื่อได้ฟังอาจารย์ที่ปรึกษาผมบรรยายเรื่องนี้ครับ ซึ่งท่านบอกว่างานใหม่ ๆ มีอยู่ 3 แนวทางครับ
1. แนวทางแรก เป็นการคิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรือเป็นการท้าทายแนวคิดทฤษฎีเก่า ๆ ด้วยการนำเสนอทฤษฎีใหม่ครับ หรือเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่มีคนเคยทำมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ โดยส่วนมากจะมีการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ลูกค้า หรือ B2C แต่ไม่มี หรืออาจจะมีน้อยที่ศึกษาเกี่ยวกับชุมชนลูกค้าออนไลน์ที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มลูกค้าเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับลูกค้าในกระบวนการสร้างคุณค่าของลูกค้า เป็นต้น
2. แนวทางสอง เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการค้นหา หรือมุมมองในการทำวิจัยใหม่ โดยใช้เครื่องมือ เทคนิคและวิธีการใหม่ ๆ ในการหาคำตอบครับ ยกตัวอย่างเช่น ในงานที่กล่าวไปในข้อ 1 ผมประยุกต์ใช้แนวคิดด้านทุน (capital) โดยนำรูปแบบของทุน (ยกเว้นทุนในด้านเศรษฐศาสตร์) อันได้แก่ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนมนุษย์ และทุนเชิงสัญลักษณ์ เพื่อศึกษากระบวนการสร้างคุณค่าของกลุ่มลูกค้าในชุมชนออนไลน์
3. แนวทางสาม อันนี้ง่าย ๆ กำปั้นทุบดินครับ เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ในการทำวิจัย หรือเปลี่ยนกลุ่มตัวอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ผมไปฟังนำเสนองานวิจัย มีคนถามคนนำเสนอว่า งานคุณมีอะไรใหม่ คำตอบคือ ไม่เคยมีใครศึกษาเรื่องนี้กับกลุ่มเด็กวัยรุ่นมาก่อน นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ก็เป็นเรื่องแรกที่ทำ ทุกคนอึ้งครับ

แบบไหนที่ดีที่สุด คำตอบคือแบบ 1 รองลงมาคือแบบ 2 ส่วนแบบที่สามไม่แนะนำครับ เพราะเป็นกรณีที่ตอบไปแล้วหรือทำไปแล้ว คุณจะกลายเป็นตัวตลกทันทีครับ ถามว่าผิดหรือไม่ ไม่ผิดครับ แต่ผิดปกติวิสัยของนักวิชาการครับ เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการใด ๆ เลย แต่ถ้าเป็นวิจัยที่กำหนดจุดมุ่งหมายชัดเจน เช่น วิจัยตลาดของบริษัท ก. หรือ ข. อันนี้มีประโยชน์ครับ

อย่างไรก็ตามผมมองว่างานวิจัยไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ย่อมมีประโยชน์ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรเท่านั้น รวมทั้งวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของงานวิจัยแต่ละเรื่อง แต่ละประเภทก็แตกต่างกัน รวมทั้งข้อกำหนดของทุนก็แตกต่างกัน ผมว่าประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะสามารถประยุกต์หรือปรับใช้แนวคิดโจกงานวิจัยที่ทำแล้วไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร ไว้ตอนหน้าผมจะมาต่อที่เรื่องการนำไปใช้ประโยชน์หรือที่เรียกกันว่า Generalized ที่มักจะถูกถามในงานวิจัยแต่ละชิ้นครับ

Siwarit Valley 2009 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาต
อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

No comments:

Post a Comment

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand