Monday, 11 July 2016

“Thailand 4.0 เหล้าเก่า ในขวดใหม่ ถึงเวลาของประเทศไทยแล้ว” ตอนที่ 1

      สวัสดีครับ Siwarit Valley กลับมาอีกครั้งกับเรื่องเด็ดประเด็นดัง เราไม่พลาดที่จะนำเสนอ อ้าวไปกันใหญ่ไม่ใช่เรื่องจริงผ่านจอครับ แต่เป็นประเด็นของ Thailand 4.0 เรื่องใหม่จริงหรือ หรือเป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ หากจะบอกว่าผมชำนาญเรื่องนี้ก็ดูจะ Hard Sell ไปหน่อย คนอ่านอาจจะบอกว่า บังอาจจริง ๆ นะ ศิวฤทธิ์ นโยบายระดับประเทศเลยนะครัช พูดเล่นได้อย่างไร แต่ถ้า Soft Sell คือ ถ้าคนที่ฟังผมบรรยาย หรือเด็กที่ได้เรียนกับผมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จะรู้ว่าผมพูดตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแต่สิ่งที่ผมพูดไม่ได้ตั้งชื่อว่า Thailand 4.0 อ้าวถ้าผมพูดจริง สิ่งที่เรากำลังคุยกันถึง Thailand 4.0 ไม่จริงหรือ ไม่ใช่ครับ สิ่งที่เราได้ยินจาก Thailand 4.0 คือ เรื่องจริง ของจริง และสิ่งที่ต้องทำ แต่หากดูจากหลาย ๆ สื่อ อาทิ ใน Youtube ครับ อันนี้ท่านรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) ได้นำมานำเสนอให้ฟังแล้วเข้าใจง่ายว่าคืออะไร แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คืออะไร หรือ What? ผมชอบดุลูกศิษย์เวลานำเสนอกลยุทธ์การตลาดแล้วเสนอว่าเราจะใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation) ครับ ผมบอกดีมาก แต่ผมให้ 2 เต็ม 10 เพราะอะไรครับ ก็การตลาดก็ต้องสร้างความแตกต่าง ใคร ๆ ก็รู้ ถาม 100 คน ก็ต้องบอกว่าสร้างความแตกต่าง แต่จะสร้างความแตกต่างได้ด้วยอะไรล่ะครับ นั่นคือ สิ่งที่ผมต้องการ หรือ How? นั่นเอง จะทำอย่างไร สิ่งนี้ครับเป็นพื้นฐานที่จะแตกต่างจากคนอื่นเพราะคุณคิดต่างจากคนอื่นแล้วครับ ผมเคยสัมภาษณ์พนักงานให้กับธุรกิจหนึ่ง เวลาพูดถึงการทำการตลาดในปัจจุบัน พูดได้สบายครับว่าต้องทำอะไร ใช้ Facebook ใช้ Instragram ทำให้ลูกค้ามาพูดคุย ผมบอกเจ้าของเลยครับว่า ถ้าจะรับคนนี้ให้เค้าทำแผนเสนอก่อนนะครับ เพราะเค้ารู้ว่าจะทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร อันนี้สำคัญ และไอ้เจ้าคำว่า “ทำอย่างไร” นี่ก็เป็นส่วนที่สำคัญของ Thailand 4.0 ด้วยนะครับ วันนี้ Siwarit Valley จะนำทุกคนไปดูว่าเราจะขับเคลื่อนประเทศด้วยแนวคิด Thailand 4.0 อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผมเขียนไว้ใน Blog นี้หลายตอนแล้วเพียงแต่ผมไม่ได้บอกว่าคืออะไรเท่านั้นเองครับ แต่ขออนุญาตแบ่งออกเป็น 2 ตอนนะครับ เพราะเรื่องยาวและไม่ง่ายครับ วันนี้ตามผมมาครับ

อะไรคือ Thailand 4.0
ก่อนที่จะไปดูว่าอะไรคือ Thailand 4.0 ต้องดูจากวิวัฒนาการหรือกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศที่ดร.สุวิทย์ได้นำเสนอดังภาพที่ 1 ที่ผมขอใช้คำที่ท่านพูดไว้เมื่อสิบปีก่อนว่าเราต้องเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสังคมแบบ Less for More นั่นคือ ทำน้อยได้เยอะ เพราะบ้านเราชอบทำแบบ More for Less คือทำเยอะ ๆ แต่ได้เงินน้อย ท่านพยายามเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนั้น ผมโชคดีที่ได้ไปนั่งฟังท่านบรรยาย Marketing Move ครับ แล้วที่่ท่านอธิบายให้เรา ท่านพูดเป็นกระบวนทัศน์ให้เราเข้าใจได้ง่าย จะทำความเข้าใจกับ Thailand 4.0 ต้องมาดูกระบวนทัศน์กันครับ ย้อนกลับไปช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ "ประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร เราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตั้งเป้าเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย สู่การเป็น ประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และปัจจุบันเรายืนรออยู่ในช่วง ประเทศไทย 3.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก  กำลังทะยานเข้าสู่ “Value–Based Economy” หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทำให้เราติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางมานานมาก ซึ่งในการเข้าสู่ Thailand 4.0 ท่านรมช. ได้เน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 มิติสำคัญ คือ 1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า โภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิง นวัตกรรม” 2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3) เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น ถ้าจะกล่าวในมุมผม การเข้าสู่ Thailand 4.0 ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ดังนี้ครับ
1. เปลี่ยนแนวคิดจาก "ผลิตและขาย" เป็น "รู้สึกและตอบสนอง" ในส่วนนี้ ผมให้คาถาค้าขายดีกับบรรดา SMEs หรือ OTOPs ที่ผมให้คำปรึกษาโดยตลอดว่า "ขายให้ได้ก่อนการผลิต" ท่องให้ขึ้นใจก่อนนอกจะดีนักแลฯ นั่นคือ ก่อนที่จะผลิตอะไร วิเคราะห์ตลาด มองให้เข้าใจลูกค้าเพราะลูกค้าทุกวันนี้ไม่เหมือนเดิม ย้อนไปอ่านตอนอื่น ๆ ได้ครับมีเขียนไว้หมดแล้ว ดังนั้น ต้องให้มั่นใจก่อนว่าตลาดไปในทางไหน จับกระแสให้ทัน ดูกรณีศึกษา Motorola หรือ Nokia ก็ได้ครับ หรือแม้กระทั่ง Kodak เป็นตัวอย่างที่ทำให้ไม่เห็นกระแสตลาด ขึ้นเรือผิดลำก็ไปผิดทางครับ
2. จากสถานที่เป็นประสบการณ์ ทุกวันนี้ เราไม่ได้ขายสิ่งที่จับต้องได้อีกต่อไป เรากำลังขายประสบการณ์ (Experience) ให้กับลูกค้า ลูกค้าเข้าร้าน Starbucks ไม่ใช่เพราะกาแฟ แต่เป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการดื่มกาแฟ Starbucks ดังนั้น ยุคใหม่ เราต้องเน้นการสร้างสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) ไม่ใช่นำเสนอตัวสินค้า (Objects) เป็นหลัก
3. จากแตกต่างเป็นนวัตกรรม หลายคนเข้าใจว่าการสร้างความแตกต่างคือ ความแตกต่างทางกายภาพ สีสัน หน้าตา หรือรูปลักษณ์ แต่จริงๆ  แล้ว ความแตกต่างที่นักการตลาดพูดถึงคือ ความแตกต่างทางจิตใจหรือความรู้สึก คราวนี้ นักคิดก็ทนไม่ไหว พอบอกให้แตกต่างก็ทำตัวแตกต่างจากเพื่อนแต่ไม่โดนใจลูกค้า เอ้า ลองดูนวัตกรรม คิดใหม่ กระบวนการใหม่ รูปแบบใหม่ชัดเจนไหมครับ
4. จากการตลาดสู่ตราสินค้า เป็นจากตราสินค้าสู่การตลาด ในอดีต ตราสินค้าถูกมองว่าเป็นชื่อเรียก สัญลักษณ์เพื่อบอกว่าเราเป็นใคร โดยทำการตลาดก่อน แล้วค่อยมาทำโลโก้เพื่อให้คนรู้ว่าเราเป็นใคร แต่ปัจจุบัน ตราสินค้าไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียก หรือการออกแบบ หรือสัญลักษณ์ แต่ตราสินค้าคือทุกสิ่งทุกอย่างของธุรกิจ คือ ตัวตนของธุรกิจ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าลูกค้าคือใคร มีวัฒนธรรมอย่างไร ด้วยเหตุนี้ การตลาดยุคใหม่จึงต้องเน้นสร้างตราสินค้าก่อนที่จะวางแผนการตลาด


ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (2558)
เข้าถึงได้จาก http://www.thansettakij.com/2015/08/31/9309

โดยสิ่งที่ผมเห็นใน Thailand 4.0 อาจจะมีมุมมองที่ผมใช้คำเดียวมาอธิบาย คือ Value Co-Creation ซึ่งผมเขียนอยู่ในหนังสือหลักการตลาดของผมว่าเราอยู่ในกระบวนทัศน์การตลาดแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Value Co-Creation Paradigm) และคำว่า “คุณค่า” หรือ Value ถูกกล่าวถึงใน Thailand 4.0 ค่อนข้างมาก ดังนั้น ก่อนที่จะไปดูว่า How? ใน Thailand 4.0 เป็นอย่างไร จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับ Value ในส่วนนี้ก่อน ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชี้ตรงนี้นะครับมีประเด็นดังนี้
1.     Value ในที่นี้ หมายถึงคุณค่า ไม่ใช่ค่านิยม หรือ Values เห็นไหมครับจุดต่าง คือ มี s กับ ไม่มี s เขียนเปลี่ยน ความหมายก็เปลี่ยน 
2.   Value ในที่นี้หมายถึง คุณค่าของลูกค้า (Customer Value) หรือ คุณค่าของผู้รับประโยชน์ ด้วยคำว่าคุณค่าของลูกค้าอาจจะมองในมิติเดียว แต่คำว่า คุณค่า (value) นี้ผมนิยามว่าอยู่ในมิติที่เป็นพลวัตรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือที่ Vargo and Lusch (2008) ระบุว่าเป็น Phenomenological Value นั่นคือ เป็นคุณค่าที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเราจะได้รับอะไร Vargo and Lusch ยกตัวอย่างของสวนสนุก เราไปสวนสนุกและเรารู้ว่าเราจะได้อะไร อันนั้นไม่ใช่ Value แต่เป็นประสบการณ์ที่ได้รับ คราวนี้ Value ในมิติของผู้รับประโยชน์นี้จึงสามารถนำไปใช้กับทุกบริบท ทั้งระหว่าง คนขายกับลูกค้า เจ้านายกับลูกน้อง นักการเมืองกับประชาชน พ่อกับลูก เป็นต้น
3.    Value ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “มูลค่า” ที่แสดงออกทางการเงิน หรือบัญชี และคุณค่า กับมูลค่าต่างกัน เพราะคุณค่าไม่มีขีดจำกัด หรือจะแทนค่า คุณค่า = ∞ แต่มูลค่ามีค่าแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ธนบัตรใบละ 100 บาท มีมูลค่า 100 บาท แต่อาจจะมีคุณค่าน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าคน ๆ หนึ่งมีเงินในกระเป๋า 200,000 บาท ธนบัตรมูลค่า 100 บาทที่ตกอยู่บนพื้นจะไม่มีคุณค่าสำหรับคน ๆ นั้นเลย แต่หากเงินในกระเป๋าหายไปทั้งหมด ธนบัตรมูลค่า 100 บาทกลับมีคุณค่าขึ้นมาทันที แต่มูลค่ายังคงเท่าเดิม ทุกวันนี้หากเราทำอะไรก็ตามที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง (นั่นคือ เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง) ย่อมไม่สามารถทำให้เราเติบโตในระยะยาวได้ เพราะไม่นาน คนก็จะเดินหนีเราไปหมด ดังนั้น ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หากเรามอง “คุณค่า” หรือ “ผลประโยชน์” ของลูกค้า หรือผู้อื่น ย่อมจะส่งผลต่อการเติบโตในระยะยาว แม้ว่าวันนี้ ลูกค้าอาจจะไม่ซื้อสินค้า หรือตอบแทนเราทันที แต่เมื่อลูกค้าต้องการสิ่งที่เรามี หรือเชื่อมั่นว่าเราสามารถให้ผลประโยชน์แก่ลูกค้าได้ ลูกค้าจะนึกถึงเราก่อนเป็นอันดับแรก แนวคิดนี้คือ แนวคิดพื้นฐานของ CRM ที่ธุรกิจใหญ่ ๆ นำมาใช้ในองค์กรนั่นเอง และก็ไม่แปลกใจว่าทำไม ร้านเล็ก ๆ หลายร้านจึงสามารถแข่งขันได้กับธุรกิจใหญ่ ๆ เพราะเราให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” หรือผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
4.       คุณค่าของลูกค้า หรือผู้รับผลประโยชน์ หมายถึง ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อ หรือใช้ หรือครอบครองสินค้าหรือบริการ ที่อาจจะแตกต่างกันตามวัน เวลา สถานที่ บุคคล หรือสถานการณ์ที่ฝ่ายรับผลประโยชน์มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างคุณค่า หรือผลประโยชน์นั้น เหมือนที่ผมยกตัวอย่างในหลาย ๆ ครั้งกับ MK หากจะถามว่า MK ขายอะไร คำตอบ คือ MK ไม่ได้ขายสุกี้ ไม่ได้ขายอาหาร แต่ MK นำเสนอความสุข ความรัก ความผูกพันที่ลูกค้าต้องเป็นผู้สร้างคุณค่านั้นเอง ถ้า MK เป็นผู้สร้างคุณค่าจริงตามแนวคิดกระบวนทัศน์แบบเดิม เวลาเราเศร้า ๆ เราเดินเข้าไป MK แค่เท้าเข้าไปสัมผัส เราจะต้องมีความสุข หายเศร้าทันที แต่ในทางปฏิบัติ เราเข้าไป MK ก็ไม่ได้ทำให้เราหายเศร้า แต่เมื่อมีเพื่อน ๆ มา ครอบครัวมาร่วมกันสั่งอาหารมารับประทาน พูดคุย หยอกล้อ และสนทนากัน โดยทีมงานของ MK ตั้งแต่ผู้จัดการ พนักงาน พ่อครัว พนักงานทำความสะอาดเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการสร้างคุณค่าหรือผลประโยชน์ให้กับลูกค้า
เพราะฉะนั้น จากความหมายนี้ในมิติของ Thailand 4.0 ที่เรากำลังบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ Value-Based Economy นั่นหมายความว่าเรากำลังอยู่ในมิติของการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นระหว่างกัน ซึ่งคุณค่า หรือผลประโยชน์นั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่ละสถานการณ์ ซึ่งเดี๋ยวมาดูกันต่อว่า เราจะทำอย่างไร ซึ่งผมขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จัก Service Dominant Logic of Marketing

กระบวนทัศน์ด้านการบริการของการตลาด (Service Dominant Logic of Marketing: S-D Logic)
คราวนี้ ที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ผมพูดเรื่องนี้มานานตั้งแต่ปี 2553 เกี่ยวกับ How to? แต่ก็ยังน้อยกว่าท่านดร.สุวิทย์ที่พูดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2545 แต่ยังไม่มีใครเห็นการเปลี่ยนแปลง เอาล่ะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วเล่าต่อครับว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค Value-Based Economy นั่นคือ ที่ผมพูดถึงกระบวนทัศน์การสร้างคุณค่าร่วมกัน (Value Co-Creation Paradigm) ที่เปลี่ยนบทบาทนักการตลาดจากผู้สร้าง (Producer) เป็นผู้ร่วมสร้าง (Co-Creator) และลูกค้าจากผู้บริโภค (Consumer) เป็นผู้ร่วมสร้างเช่นเดียวกัน ผมเขียนถึงเรื่องนี้ไว้หลายตอนย้อนกลับไปอ่านได้ที่ตอน การตลาดยุคใหม่ ลูกค้าคือพระเจ้าอย่างแท้จริง!  เพราะเป็นเรา เขาถึงมา!  และอีกหลาย ๆ ตอน ดังนั้น ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Thailand 4.0 ผมต้องยกเรื่อง S-D Logic หรือ Service Dominant Logic of Marketing ที่ผมให้ความหมายชื่อไทยว่า กระบวนทัศน์ด้านการบริการของการตลาด ที่ผมกล้าพูดได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2004 หรือ พ.ศ. 2547 ก่อนที่ผมจะนำมาเป็นทฤษฎีหลักในวิทยานิพนธ์และต่อยอดนำไปสังเคราะห์ร่วมกับแนวคิดวัฒนธรรมของผู้บริโภค (CCT) ที่มีมุมมองใกล้เคียงกันที่นักวิชาการระดับนานาชาติ Prof. Eric Arnould กล่าวว่าทั้ง S-D Logic และ CCT คือเรื่องเดียวกันแต่มีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน
Professor Stephen Vargo และ Professor Robert Lusch ได้นำเสนอ S-D Logic ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 และก่อให้เกิดการถกเถียง โต้แย้ง และอภิปรายเกี่ยวกับ S-D Logic กันมากว่า “ใช่” สิ่งที่นักการตลาดค้นหาหรือไม่ ด้วยการ Co-Creation ในตัวของ S-D Logic ทำให้เปิดกว้างต่อการร่วมสร้าง “คุณค่า” ทำให้ S-D Logic ที่ในตอนแรก ๆ ดูเหมือนว่าจะถูกต่อต้าน แต่ด้วยกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างคุณค่าทำให้ปัจจุบัน S-D Logic ได้รับการยอมรับว่าเป็นมากกว่าแนวคิดด้านการตลาดแต่นำไปใช้กับการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาประเทศได้เลย จนกระทั่งทุกวันนี้ผมเห็นมีหน่วยงานธุรกิจจัดบรรยายเรื่อง Service Science ซึ่งมีที่มาจาก S-D Logic เก็บค่าเข้าสัมมนาคนละ 20,000 บาทและมีหลาย ๆ คนสนใจเข้าฟัง คราวนี้ แล้ว S-D Logic ทำไมถึงสามารถตอบคำถามว่าจะเข้าสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างไร ต้องย้อนไปดูว่า S-D Logic มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Thailand 4.0 บ้าง คำตอบคือ
ประการที่หนึ่ง S-D Logic มีรากฐานแนวคิดมาจากทฤษฎี Resource Based Theory ที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากร (Resource) ในองค์กรว่าเราควรจะยึดทรัพยากรตัวไหนดี เพราะในอดีต Adam Smith บอกว่าใครมีทรัพยากรมากกว่า คนนั้นได้เปรียบ หรือประเทศไหนมีทรัพยากรมากกว่า ประเทศนั้นจะเจริญกว่า อันนี้ถูกต้องเพียงส่วนเดียว เพราะทำไมประเทศไทยและเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีมูลค่าสูงกลับมีความได้เปรียบทางการแข่งขันน้อยกว่าประเทศตะวันตก ด้วยเหตุนี้ S-D Logic จึงชี้ให้เราเห็นว่าเราต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) ซึ่งก็คือ ทักษะ และความสามารถ (Skills and Competences) หรือ องค์ความรู้ที่เป็นลักษณะ Know How ในการจัดการ หรือในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ถูกดำเนินการ (Operand Resources) ซึ่งได้แก่ แรงงาน เงินทุน วัตถุดิบ การจัดการในองค์กรให้เกิดคุณค่ามากที่สุด นั่นหมายความว่าต่อให้เรามีทรัพยากร มีคน มีเงินทุน มีวัตถุดิบที่ดีที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเรามีความสามารถในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้มากที่สุด สิ่งนี้คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key success factor) ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ทีมฟุตบอล ทำไมสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดภายใต้การจัดการของเซอร์อเล็ก เฟอร์กูสันถึงประสบความสำเร็จมาตลอด 2 ทศวรรษทั้ง ๆ ที่สโมสรฟุตบอลอื่น ๆ มีนักฟุตบอล มีเงินทุน มีสนาม มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ดีกว่า ซึ่งสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมีเพียงทักษะและความสามารถ (Skills and Competences) ในการที่จะใช้ประโยชน์จากตัวผู้เล่นและทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยหรือมองข้ามทรัพยากรด้านอื่น ๆ ที่ดี แต่เมื่อองค์กรนั้น ๆ มีทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) เช่นในกรณีของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด องค์กรนั้น ๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า และถ้าใครเป็นแฟนลิเวอร์พูลอย่างผมจะรู้แบบไม่ได้เข้าข้างตัวเองว่านับจากยุคเดลกลิชในปี 92 เรามีนักเตะที่มีฝีมือกว่า ดังกว่า เท่ห์กว่า หล่อกว่า แต่เราไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สโมสรลิเวอร์พูลทุ่มซื้อแต่นักเตะเก่ง ๆ (จริงหรือเปล่า) ที่เป็นนิวนั่น นิวนี่ แต่คนใช้งานไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของนักเตะออกมาได้ และเป็นตัวที่สะท้อนให้ดูว่าถ้าเรามัวแต่กังวลว่าเราจะต้องได้วัตถุดิบที่ดีที่สุดมากกว่าเราจะจัดการอย่างไร ตัวอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนครับว่าความได้เปรียบทางการแข่งขันจะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องให้ความสำคัญกับวัตถุดิบนะครับ แต่ในความหมายที่ผมพูดวัตถุดิบ หรือทรัพยากรที่ถูกดำเนินการ (Operand Resources) จะต้องมีมาตรฐานและมีคุณภาพ แต่ผมไม่เน้นเยอะเพราะในโลกธุรกิจ ปัจจัยนี้คือปัจจัยพื้นฐาน ไม่มีไม่ได้ แต่มีแล้วไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นอันดับหนึ่ง อย่างเช่นในกรณีของฟุตบอล การได้นักฟุตบอลดี ๆ มีศักยภาพมา ก็เป็นการดำเนินการหาวัตถุดิบ เหมือนกับที่เซอร์อเล็ก เฟอร์กูสัน ได้อิีริค คันโตน่ามานี่แหละครับ ต้องอาศัยทักษะและความสามารถเป็นสำคัญ ซึ่งเป็น Operant Resources นั่นเองครับ 
ด้วยเหตุนี้ ในการมุ่งสู่ Thailand 4.0 สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ทักษะและความสามารถ (Skills and Competences) ขององค์กร หรือธุรกิจ แต่ในทางปฏิบัติ ทักษะและความสามารถของธุรกิจต้องอาศัยทักษะและความชำนาญของพนักงานที่จะต้องมีคุณสมบัติครบตามหลักการ KSAO อันได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ความสามารถ (Abilities) และอื่น ๆ (Others) ให้สอดคล้องกับเกมการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งการที่เราจะรู้ว่าคุณสมบัติที่ครบถ้วนตามหลักการ KSAO คืออะไร อันนี้แหละครับที่เรียกว่า ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) หรือการตระหนักรู้ว่าในการแข่งขันนั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้อะไร และจะใช้องค์ความรู้นั้นในการแข่งขันได้อย่างไร รวมถึงมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และคู่แข่งแต่ละรายได้อย่างไร และปัจจัยสำคัญที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญคือ การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) และการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (Knowledge Transfer) ภายในองค์กรและระหว่างองค์กรเพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) ทั้งขององค์กรและของพนักงาน ทั้งนี้อย่าสับสนระหว่าง Operant กับ Operand นะครับ ตัวที่เราต้องเน้นคือ Operant นะครับ ซึ่งโดยสรุปองค์กรธุรกิจจะมี Operant ได้ก็มาจาก Operant Resources ของพนักงานครับ หรือการลงทุนในทุนมนุษย์นั่นเอง

      ยังไม่จบนะครับ เพิ่งได้ประเด็นเดียวคือ ทรัพยากร (Resources) ยังมีมุมมองด้านกระบวนการที่กล่าวถึง Service เปรียบเทียบกับ Services และอีกหลาย ๆ ประเด็น สัญญาครับ จะรีบกลับมาต่อให้จบ พบกันตอนหน้านะครับ สำหรับวันนี้เช่นเคยครับ หากท่านผู้อ่านต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมส่งข้อความได้ครับที่ psiwarit@gmail.com นะครับ ขอบคุณครับ 


Siwarit Valley 2016 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

4 comments:

  1. เยี่ยมมากเลยครับ เป็นบทความที่อ่านแล้วเสมือนได้กับได้ฟังจากคำบอกเล่าของผู้เขียนโดยตรง ...อ่านง่าย ได้ความรู้..ขอบคุณมากครับ ^_^

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณครับ มีอะไรแนะนำด้วยความยินดีครับ

      Delete
  2. เปิดโลกกระทัศน์ได้ดี ผมว่ารัฐบาลเองผู้ตั้งเป้าและกำหนด นโยบาย Th4.0 ก็ยังไม่รู้จะใช้รูปแบบใดในการทำให้สำเร็จ

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณครับ มีอะไรแนะนำด้วยความยินดีครับ

      Delete

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand