Tuesday, 11 July 2017

“Thailand 4.0 การตลาดทำได้ทุกอย่าง” ตอนที่ 4

สวัสดีครับ Siwarit Valley กลับมาอีกครั้งกับ Thailand 4.0 ตอนที่ 4 กับการตลาดทำได้ทุกอย่าง เหตุผลที่ต้องมาเขียนเรื่องนี้มาจากมุมมองที่นักการตลาดยังเข้าใจผิดกับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดทำให้ในหลาย ๆ ครั้ง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ แม้ว่านักการตลาดจะพร่ำบอกต่อ ๆ กัน หรือท่องว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” และหน้าที่ของนักการตลาดคือ การค้นหาความต้องการของลูกค้าและส่งมอบมูลค่าที่ลูกค้าต้องการให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด และธุรกิจมีกำไรสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติ ลูกค้าไม่ได้รับสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด มีเพียงธุรกิจที่ได้กำไรสูงสุด เหตุผลที่สำคัญคือ นักการตลาดรุ่นเก่ามองว่าหากตอบสนองหรือให้ลูกค้าทุกสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ธุรกิจจะมีกำไรลดลง และนักการตลาดเหล่านั้นพยายามที่จะส่งมองมูลค่าส่วนเพิ่ม (Value Added) ให้กับลูกค้า ซึ่งในมุมมองการตลาดสมัยใหม่ มูลค่าส่วนเพิ่ม หรือคุณค่าส่วนเพิ่มส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการเลยแต่เป็นสิ่งที่นักการตลาดหรือนักธุรกิจนำเสนอให้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปซื้อคอมพิวเตอร์เราจะได้ของแถมหลายชิ้น แต่ไม่ได้นำมาใช้เลยเพราะไม่ได้สอดคล้องกับการให้คุณค่าของลูกค้า วันนี้ ผมจึงจะมาเล่าวิธีการที่จะสามารถนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ทำตามที่ลูกค้าต้องการ และในขณะเดียวกันยังมีกำไรสูงสุดอีกด้วย ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 การตลาดทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำกันอยู่เป็นสิ่งที่ผิดนะครับ แต่ภายใต้ความเป็น Siwarit 4.0 ทำตลาดแล้วต้องเหนือกว่าคนอื่นครับ และที่สำคัญตามหลักการ Thailand 4.0 เลยคือ “Less For More”

ไม่มีอะไรที่นักการตลาดทำไม่ได้สำหรับลูกค้า

          ผมว่าเราน่าจะจำคำผู้ใหญ่ที่คอยบอกเรามาโดยตลอดว่า “อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา...” ใช่เลยครับ ผมถูกฝึกโดยแม่ผมตั้งแต่เด็ก ความสนุกสนานในการสอยมะละกอไปขายแม่ค้าได้ครั้งละ 5 บาท 6.50 บาท ครับไม่ผิดครับ “หกบาทห้าสิบสตางค์” แล้วหยอดกระปุกไว้ ภาพของสาวแบงค์ธนาคารกรุงเทพที่เดินทางมารับเงินฝากที่หมู่บ้านผม เป็นภาพความทรงจำการทำการค้าและการออมเงินที่ผมถูกปลูกฝัง ชีวิตทำมาเรื่อย ๆ ครับ ขายมะละกอ ขายเศษเหล็ก กล่องกระดาษ ขวดน้ำ ได้เงินครั้งละนิด มาเรียนม.ต้นที่กรุงเทพฯ ทุกวันศุกร์จะเดินทางไปคลองถม เพื่อเช่าเกม Family ราคา 50 บาท ราคาเช่า 2 วัน มาปล่อยเช่าชั่วโมงละ 20 บาทที่บ้าน พอซักช่วง ม.3 ไปมาบุญครองติดต่อแค็ตตาล็อกเครื่องเงิน แล้วมารับออเดอร์แถวบ้าน เรียน ป.ตรี ไปติดต่อร้านเสื้อกีฬา และรับเสื้อบอลมาขายในช่วงบอลโลก รับตัดเสื้อทีมฟุตบอล ไม่เคยต้องลงทุน ผม Outsourcing มาตั้งแต่เล็ก แต่ฝึกฝนนิสัยทำการค้าและเก็บเงิน ทุกวันภรรยาจะเรียกผมว่า “ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์” เพราะเงินที่เข้ามือมากว่าจะดึงออกเหนียวมาก 555
          ในอดีต ยุคที่เรายังเป็นการตลาด 1.0 หรือ 2.0 ต้น ๆ การตลาดแบบเดิม ๆ ที่เราเรียนรู้มายังใช้ได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราอยู่แบบ Stand Alone หรือเป็นกลุ่ม ๆ แล้วแต่สมาคม หรือกลุ่มที่เราเข้าไปสังกัด การมุ่งกำไรสูงสุดจึงเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจเพราะเป็นยุคที่เศรษฐกิจเติบโต ผู้คนเริ่มแสวงหาทรัพย์สิน หาสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิต หากนึกภาพไม่ออกลองนึกถึงยุคที่บ้านเรามีโทรทัศน์เครื่องเดียวในหมู่บ้าน จนกระทั่งเกือบทุกบ้านต้องแสวงหาโทรทัศน์ ไล่มาจนถึงตู้เย็น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ บ้านตึก ฯลฯ แบบนี้ทางฝั่งอเมริกาเขาเรียกว่า “วัฒนธรรมผู้บริโภค” หรือ Consumer Culture Theory ที่ผู้บริโภคเป็นคนสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ หลายพื้นที่ในปัจจุบันเช่น ชุมชนศรีรายา เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ หรือเชียงคาน จังหวัดเลย มีการสร้างบ้านตึกแทรกบ้านไม้ที่เป็นจุดขายของชุมชน ไม่ใช่เพราะเค้าไม่รู้ว่าชุมชนจะขายอะไร แต่เค้ามองว่าการมีบ้านตึกคือความที่บอกว่าบ้านนั้นมีฐานะ ผมเคยฟังการนำเสนองานวิจัยของอาจารย์ที่อังกฤษ ศึกษาเกี่ยวกับการมีประตูเหล็กของคนตุรกี บางบ้านยังมีประตูแบบโบราณ แต่บ้านที่มีประตูเหล็กเพราะแสดงออกถึงความสมัยใหม่ ความศิวิไลซ์ ในบ้านเราพอยุคที่ผู้คนแสวงหาสิ่งของและสิ่งอำนวยความสะดวก การตั้งราคาสูงและเมื่อราคาสูง ธุรกิจมีกำไรสูง ซึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคือ ธุรกิจที่มีเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมดังที่เรียกกันในปัจจุบัน การตั้งราคาสูงคือ การทำกำไรเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไป ในฝั่งผู้บริโภค เมื่อซื้อของแพงแล้ว หากได้ของแถมเพิ่มเติมจะทำให้รู้สึกว่าจ่ายน้อยลง ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจต่าง ๆ คิดค่าใช้จ่ายเผื่อไปหมดแล้ว และสิ่งนี้ทำให้นักการตลาดเรียกสิ่งนี้ว่า “มูลค่าส่วนเพิ่ม” หรือ Value Added เพราะเป็นยุคที่ผู้บริโภคมองถึงสิ่งที่ได้รับเปรียบเทียบกับมูลค่าจากการทำธุรกรรม (Value in Transaction) ที่ยึดติดกับราคาสินค้า และหากซื้อของแพงและมีของแถม 2-3 ชิ้นจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกชนะ แต่ในทางปฏิบัติของที่แถมมา ไม่รู้ว่าเอามาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งมุมมองนี้ถูกปฏิเสธโดยแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ แต่จะเป็นอย่างไร ลองอ่าน Thailand 4.0 ของผมในตอนที่ 1 – 3 จะเข้าใจมากขึ้น
          คราวนี้ แล้วการมุ่งกำไรสูงสุดทำไมผมถึงเขียนไปในทำนองว่าเป็นแนวคิดการตลาดสมัยเก่าล่ะครับ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำ ที่ผมบอกแบบนั้นเพราะ การมุ่งกำไรสูงสุดในขณะที่ยังต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้พึงพอใจสูงสุดเป็นเรื่องเหลวไหล และไปด้วยกันไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด ผู้บริโภคจะไม่ได้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด เพราะทุกอย่างที่ให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่มีต้นทุนทั้งนั้น ในหลาย ๆ ครั้งจึงต้อปฏิเสธสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีธุรกิจไหน หรือแบรนด์ใดในโลกทำแบบนี้นะครับ มีครับ หลายธุรกิจ หลายแบรนด์เข้าใจปรัชญาแนวคิดที่ผมกำลังนำเสนอ แต่บางธุรกิจทำโดยไม่รู้ว่าคืออะไรก็มี แนวคิดนี้จึงปฏิเสธมูลค่าส่วนเพิ่ม (Value Added) เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่ธุรกิจอยากให้แต่ผู้บริโภคไม่ได้อยากได้ พูดง่าย ๆ คุณจะไปรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าคนที่กำลังจะซื้อของคุณต้องการอะไร แล้วเสนอสิ่งของให้กับลูกค้าคนนั้น ถามว่าเค้ารับไหมของแถม ผมก็รับครับ กำคลี่ดีกว่ากำตด ใช่ไหมครับ แต่เอาไปทำอะไรนั้นอีกเรื่อง ผมมีกรณีมาเล่าให้ฟัง 2 กรณี



          กรณีแรก ร้านกาแฟ หลังจากเปิดเมนูในร้านกาแฟใหม่ทันสมัย ด้วยหัวคิดเด็กจบนอก
          ผม: “น้องครับขอน้ำผึ้งมะนาวโซดา 1 แก้ว”
          เจ้าของร้าน: “โทษทีครับพี่ ไม่มีครับ”
          ผม: “นี่ไง มีน้ำผึ้งมะนาว...และก็มะนาวโซดา”
          เจ้าของร้าน: “ใช่ครับ น้ำผึ้งมะนาว และ มะนาวโซดา แต่ไม่มีน้ำผึ้งมะนาวโซดาครับ”
          ผม: “แล้วเอาโซดาใส่น้ำผึ้งมะนาวให้ได้ไหมครับ หรือใส่น้ำผึ้งในมะนาวโซดาได้ไหมครับ”
          เจ้าของร้าน: “ไม่ได้ครับ เพราะไม่มีในเมนูครับ”
          ผม: #$^&**&^&%$@#$%$#@$%^&%%$#

          กรณีสอง โชว์รูปรถยนต์ เนื่องจากผมต้องการใช้รถยนต์เลยไปคุยที่โชว์รูมรถยนต์ หลังจากโทรคุยและนัดหมายกัน ผมเข้าไปดูรถยนต์ที่ต้องการ
          ผม: “พี่ครับ ผมต้องการรุ่นนี้ครับ...”
          ผู้จัดการขายอาวุโส: “ได้เลยค่ะ รายละเอียดพอทราบแล้วใช่ไหมคะ ฟังค์ชั่นต่าง ๆ”
          ผม: “ทราบครับ ถ้าต้องการรถเลยมีไหมครับ”
          ผู้จัดการขายอาวุโส: “มีค่ะ จะเอาสีอะไรคะ ถ้าสีขาวต้องรอก่อนและเพิ่มเงินค่ะ ถ้าจะเอาเร็วมีสองสีนะคะ แต่ต้องนำรถมาจาก...ค่ะ”
          ผม: “มีของแถมอะไรบ้างครับ” (ทุกคนต้องการของแถมครับ ผมก็เช่นกัน)
          ผู้จัดการขายอาวุโส: “แล้วแต่จะเลือกนะคะ จะเอาส่วนลด หรือของตกแต่งรถ พร้อมประกันชั้นหนึ่ง”
          ผม: “อยากได้ของแต่งรถทั้งคันครับ ประกันด้วยได้ไหมครับ” (เข้าทางนักขายมืออาชีพ ถ้าง้างปากให้ลูกค้าพูดก่อน จบครับ)
          ผู้จัดการขายอาวุโส: “ได้เลยค่ะ แต่ว่าถ้าทั้งหมด คุณลูกค้าพอจะช่วยซักส่วนหนึ่งได้ไหมคะ พี่ต้องตัดยอดที่จะให้ลูกน้องมาให้ ไม่อยากรบกวนลูกน้องพี่มาก พอจะจ่ายส่วนนี้ประมาณ 10,000 บาทได้ไหมคะ”
          จากจุดนี้ ก็เป็นการเจรจากันต่อครับ แต่ผมในฐานะลูกค้าได้ในสิ่งที่อยากได้ ธุรกิจก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ  แต่สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดต้องรู้คือ ต้นทุนสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ที่จะนำเสนอให้กับลูกค้า เพราะตอนนำเสนอจะได้นำเสนอโดยที่ยังพอมีกำไรครับ ซึ่งกรณีหลัง เราสามารถนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ แต่กรณีแรก ผมโดนปฏิเสธเพราะหากใส่เพิ่มและขายในราคาเดิม ย่อมทำให้ลูกค้าขาดทุนแน่นอน เพราะโซดาขวดละ 8 บาท เปิดเพื่อเติมใส่ในเครื่องดื่มที่ขายราคา 40 บาท กำไรลดลงไปถึง 8 บาท แต่งานนี้มีทางออก

กรณีแรก ร้านกาแฟ หลังจากคุยและไม่มีทางออกนอกจากเดินจากไปอย่างสิ้นหวัง
          แม่เจ้าของร้าน: “เดี๋ยวค่ะ คุณลูกค้า จะรับอะไรคะ”
          ผม: “น้ำผึ้งมะนาวโซดาครับ แต่น้องเค้าทำไม่ได้เพราะไม่มีในเมนูครับ”
แม่เจ้าของร้าน: “ทำได้ค่ะ คุณลูกคะ ทำไม...อย่างนี้คะ ลูกก็เติมโซดาไปในน้ำผึ้งมะนาวนะคะ และบอกคุณลูกค้าไปสิคะว่าไม่มีในเมนู ผมจะทำให้นะครับ แต่ราคา 50 บาทนะคะ”
          ผม: “ขอบคุณครับ” (นี่แหละครับสิ่งที่ต้องการ)
         
          เห็นไหมครับ กรณีนี้ ไม่มีใครเจ็บตัว ได้หมดทุกคน ที่ผมพยายามบอกไงครับ ไม่มีอะไรที่นักการตลาดทำไม่ได้ และยังคงได้กำไรสูงสุดด้วย ลูกค้าก็ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่หากยึดแนวคิดเดิม ทำไมได้ เพราะทำแล้วขาดทุน ท้ายสุดทำไมไม่เปลี่ยนนิยามการตลาดไปเลยว่า “ตอบสนองความต้องการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดภายใต้เงื่อนไขที่นักการตลาดทำได้มากที่สุด” คราวนี้ อาจจะมีหลายคนบอกผมว่า สิ่งที่ผมพูดทำได้เฉพาะธุรกิจเล็ก ๆ 555 อย่านะครับเพราะผมมีกรณีศึกษารีสอร์ทระดับ 5 ดาว ที่ไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ห้องธรรมดา คืนละ 180,000 บาท วันนั้น คุณอั้ม พัชราภาไปพัก ผมทำได้แต่เพียงยืนมองและลูบไล้รั้วไม้ไผ่ 555 ยิ่งพูดจะกลายเป็นโรคจิตแล้วครับ กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า รีสอร์ทแห่งนี้ทำทุกอย่างตามแนวทาง Thailand 4.0 หรือแนวทางที่ผมได้กล่าวไว้ใน Thailand 4.0 ตอนก่อนหน้านี้ ผมอุตส่าห์ไปโม้ว่ามีแนวคิดการตลาดใหม่ บลา ๆ  ๆ ท้ายสุด ทางนั้นบอกว่า เราทำมา 20 ปีแล้ว ไม่มีเช็คอินหน้าเคาท์เตอร์ มีการพูดคุยถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ และทางรีสอร์ทจะจัดโปรแกรมให้ตามที่ลูกค้าต้องการ และทำได้ทุกอย่างนะครับ ผมถามย้ำเลย ทำได้ทุกอย่างจริงหรือ คำตอบคือ ได้ครับ ไม่งั้นห้องธรรมดาจะขายที่ราคา 180,000 ห้องแพงขึ้นมาอีกนิดก็ราคาประมาณ 360,000 ต่อคืนนะครับ ย้ำต่อคืนครับ
ผมถามว่าเพราะเหตุใด ราคาถึงได้แพงขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่วัสดุไม่ได้แพงมาก เป็นเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม่ไผ่ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์จากดีไซเนอร์ระดับโลก เป็นไม้ไผ่ฝีมือคนไทย แต่มีส่วนอื่นประกอบที่เป็นสุขภัณฑ์ กรอบกระจกก็ไม่ไผ่ กล่องทิชชู่ก็ไม่ไผ่ ฯลฯ คำตอบคือ “เรานำเสนอประสบการณ์สุดแสนพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน ทั้งมุมห้องนี้ เราขาย 180,000 เพราะเป็นห้องเดียวในโลกที่มองเห็นเกาะไก่ (แหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลต้องไปเยี่ยมเยือนในแต่ละวัน) เราให้อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่สามารถจับต้องได้จากสิ่งที่จับต้องได้” พูดถึงประเด็นนี้เดี๋ยวยาว ขอไปต่อตอนหน้าในประเด็นนี้ ขอกลับมาพูดถึงเรื่องของรีสอร์ทต่อว่าทำได้ทุกสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงหรือ
ทางผู้จัดการเล่าว่าไม่มีอะไรที่เราทำให้ลูกค้าที่มาพักกับเราไม่ได้ ยกเว้นเดือนกับดาว และพระอาทิตย์เท่านั้น ทำได้ถึงขนาดนักท่องเที่ยวต้องการรับประทานอาหารเย็นบนเกาะที่ไม่มีคนอยู่กับคนรัก เรายังทำได้เลย ผมถามทำได้อย่างไร ไม่มีความเป็นไปได้ แต่คำตอบที่ได้รับคือ ทำได้ และนักท่องเที่ยวต้องยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ท้ายสุดไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวคนนั้นจ่ายเงินไปกี่แสน แต่ที่แน่ ๆ นักท่องเที่ยวสามารถรับประทานอาหารเย็นด้วยบรรยากาศสุดแสนพิเศษกับคนรัก เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องคุณค่าของลูกค้าที่ผมเขียนไว้จะเห็นภาพว่าผู้บริโภคแต่ละคนมีการให้คุณค่าต่างกันตามวัน เวลา สถานที่และบุคคล ดังนั้น ภายใต้มุมมองนี้ ไม่มีอะไรที่นักการตลาดทำไม่ได้ และธุรกิจยังได้กำไรสูงสุดอยู่ครับ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม การตลาดและการสร้างแบรนด์ทำให้เราขายของได้แพง โลกนี้ยังมีลูกค้าที่ยินดีจ่ายอยู่นะครับ
      ยังไม่จบนะครับ เพิ่งได้ประเด็นเดียวคือการตลาดทำได้ทุกอย่าง ยังมีการตลาดอย่างยั่งยืน มุมมองจาก Marketing to Brand VS Branding to Market และอีกหลาย ๆ ประเด็น สัญญาครับ จะรีบกลับมาต่อให้จบ พบกันตอนหน้านะครับ สำหรับวันนี้เช่นเคยครับ หากท่านผู้อ่านต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมส่งข้อความได้ครับที่ psiwarit@gmail.com นะครับ ขอบคุณครับ 

Siwarit Valley 2017 © สงวนลิขสิทธิ์ เอกสาารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาต อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง

1 comment:

  1. Titanium Hair Care: Beauty Care & Care in Titha Mily
    Today's citizen titanium dive watch Titha Mily Dry Mily titanium engagement rings is ideal for your eyes and face. It offers galaxy watch 3 titanium an elegant babyliss pro titanium straightener and simple beauty titanium scrap price care, as well as a soothing scent.

    ReplyDelete

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand