Tuesday, 27 December 2016

Thailand 4.0 ตอนที่ 3 กับการเตรียมการเข้าสู่เศรษฐกิจคุณค่า (Value Economy)

สวัสดีครับ Siwarit Valley กลับมาอีกครั้งกับ Thailand 4.0 ตอนที่ 3 กับการเตรียมการเข้าสู่เศรษฐกิจคุณค่า (Value Economy) ภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 ที่ผมได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าเราพูดถึง Value-based economy นั้นเราต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดคำว่า Value ที่เราต้องเน้นที่คุณค่าของลูกค้า หรือ ผู้รับประโยชน์จากเรา จนมาถึงตอนที่ 2 ผมเล่าถึงบทบาทของผู้สร้างคุณค่าที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะตัวผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการ แต่ลูกค้า หรือ ผู้รับประโยชน์ต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่า ซึ่งผมยังค้างถึงประเด็นที่ว่า "กระบวนการสร้างคุณค่า" ทำได้อย่างไร และผมตั้งใจจะเล่าถึงประเด็น "Service is not 'Services'" ผมจึงเหมือนมีพันธะสัญญาว่าจะต้องทำอะไร เพราะปล่อยเวลาผ่านมาประมาณหลายเดือนแล้ว วันนี้จึงต้องมาต่อประเด็นนี้ครับ

Thailand 4.0 ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการ 'ไม่ใช่' ผลิตภัณฑ์
หากดูผิวเผิน หลายท่านอาจจะมองว่าสิ่งที่เราต้องการจาก Thailand 4.0 คือ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เราไม่เคยมี เช่น เราอาจจะคาดหวังว่าเราจะสามารถผลิตรถยนต์ในประเทศไทยได้ หรือมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจำนวนมาก การคิดแบบน้ก็ไม่ผิดครับ เพียงแต่หากเรามองเฉพาะตััวผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตก็อาจจะเหมือนกรณีของทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นที่มีการโอนสัญชาตินักฟุตบอลชาวบราซิลมาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเพื่อมุ่งหวังการไปฟุตบอลโลก และญี่ปุ่นก็ทำได้จริง เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่ฟุตบอลอาชีพของประเทศญี่ปุ่น (เจลีก) กำลังเฟื่องฟู พอเล่าถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะบอกผมว่า อ้าว ตัวอย่างนี้ ญี่ปุ่นก็เน้นที่ผลผลิต คือได้ไปฟุตบอลโลกไม่ใช่หรือครับ เปล่าครับ ผลผลิต (Output) ของกระบวนการนี้คือ มีนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นโอนสัญชาติ และมีผลลัพธ์ (Outcome) คือ การได้เข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทั้งนี้ หลังจากนั้น ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ประสบการณ์ของนักฟุตบอลโอนสัญชาติถ่ายทอดสู่นักฟุตบอลชาวญี่ปุ่น ตั้งเป้าส่งนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นไปค้าแข้งในยุโรป พร้อมสร้างฝันผ่านการ์ตูน "ซึบาสะ" 
จากกรณีของทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น เห็นได้ว่าส่งที่ประเทศญี่ปุ่นเน้น คือ กระบวนการ (Process) แม้กระทั่งการดึงนักฟุบบอลโอนสัญชาติก็เป็นกระบวนการ โดยปีเป้าหมายเพื่อถ่ายโอนทรัพยากร (resources) จากนักฟุตบอลที่มีประสบการณ์ ซึ่งทรัพยากรตัวนี้คือ ความรู้และประสบการณ์ (Knowledge and Experience) เพื่อนำมาพัฒนา "คน" ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร นั่นคือ ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resource) และกระบวนการขั้นที่สอง คือ การส่งเสริมให้นักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นไปเล่นในลีกยุโรป ดังเช่นในปัจจุบัน เราเพิ่งแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับทีมชาติญี่ปุ่น ที่มีนักฟุตบอลในทีมทั้งหมดเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลชั้นนำในทวีปยุโรป และผลก็เป็นดังที่เราเห็น ญี่ปุ่นเอาชนะเราไปได้ด้วยสกอร์ 0:2 หลายท่านอาจจะฟังแล้วเฉย ๆ เพราะเกิดมา ทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นก็เอาชนะทีมชาติไทยได้ตลอด แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต เราเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย เกาหลีใต้ที่ว่าแน่ ๆ ญี่ปุ่นที่ว่าเจ๋ง ๆ แพ้ไทยมาโดยตลอด การแข่งขันฟุตบอลกับทีมชาติไทย ทีมชาติญี่ปุ่นไม่เคยประมาท ส่งทีมงานมาดูฟอร์มการเล่น แผนการเล่นและนำไปวิเคราะห์ว่าเราจะลงแข่งขันกับทีมชาติญี่ปุ่นอย่างไร วางแผนรับมือกำหนดแนวทางหลัก แนวทางรอง หรือแผนสำรองถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
สิ่งที่เราเรียนรู้ในกรณีนี้คือ เราควรเน้นที่กระบวนการ แต่วัดผลที่ผลลัพธ์ว่าบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามในประเทศไทย ที่มักจะให้ความสำคัญกับผลผลิต และไปเน้นการวัดผลที่การติดตามว่ามีการทำงานกี่ขั้นตอน มีรายละเอียดการทำงานมากน้อยเพียงใด ใช้เวลากับการควบคุมกระบวนการที่ค่อนข้างยึดมั่นกับแนวทางหรือขั้นตอนที่มีอยู่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากเราต้องการมุ่งสู่ความสำเร็จและความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่งขัน เราต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการและผลลัพธิ์ สิ่งที่เราคุ้นเคยเราจะเห็นว่าบ้านเราจะให้ความสำคัญเฉพาะกับทรัพยากรที่ถูกดำเนินการ (Operand Resources) ดังที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนที่ 1 เราจะให้ความสำคัญกับวัตถุดิบและขั้นตอน 1 2 3 4 อย่างไร การใส่ใจตรงนี้ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ภายใต้แนวคิดกระบวนทัศน์ใหม่ เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่า (Operant Resources) นั่นคือ ทักษะ ความรู้และความสามารถ (Skills, Knowledge and Competences) ที่เราไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบและขั้นตอนการทำงานที่ดีเลิศ แต่ถ้าเรามีทักษะ มีความรู้ มีความสามารถ หรือมีทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณค่านี้ เราจะรู้ว่าเราจะหาวัตถุดิบที่ดีมาจากไหน อย่างไร เราจะรู้ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามีให้เกิดคุณค่าหรือเกิดประโยชน์ได้อย่างไร แนวคิดนี้มีหลักคือ เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรให้ถูกตัว และที่เหลือจะตามมาครับ และนี่ครับคือที่มาของการอธิบายคำว่า Service is not Services ที่ผมจะอธิบายต่อ ซึ่งคำที่จะมาอธิบายกับปรากฎการณ์นี้มีคำเดียวครับที่เติ้งเสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวอมตะวาจาไว้ว่า “แมวไม่จำเป็นว่าต้องสีอะไร แค่จับหนูได้ก็พอ”

‘Service’ ไม่ใช่ ‘Services’
สิ่งที่ผมต้องชวนทุกท่านทำความเข้าใจก่อนคือ เคล็ดลับวิชาที่ถ้าท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ท่านจะเข้าใจว่ากระบวนการ Thailand 4.0 จะสามารถต่อยอดและเปล่งอานุภาพได้มหาศาล นั่นคือ เรากำลังพูดถึง ‘Service’ ที่เป็นเอกพจน์ ไม่มี s เพราะถ้าเราพูดถึง ‘Services’ ที่มี s นั้น เรากำลังหมายถึงการตลาดบริการ ซึ่งเป็น P อีก 3 ตัวในส่วนประสมทางการตลาดที่ผมจัดว่าเป็น Operand Resources หรือ ทรัพยากรที่ถูกดำเนินงานที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์กับส่วนประสมทางการตลาด หรือ 7p’s และ ‘Services’ ก็เป็น p อีก 3 ตัวในนี้ ซึ่งได้แก่ Process (กระบวนการ) People (พนักงาน) และ Physical Evidences (สิ่งต่าง ๆ ในสำนักงาน) ที่เป็นสิ่งที่นักการตลาดรุ่นเก่าเชื่อว่าจะสามารถสร้างมูลค่าส่วนเพิ่ม (Value Added) ให้กับลูกค้าได้ ซึ่งถ้าอ่าน Thailand 4.0 ตอนที่ 1 และ 2 จะเห็นภาพว่าในทางปฏิบิตนักการตลาดไม่สามารถสร้าง Value Added ได้ เพราะคนที่จะสามารถสร้างคุณค่าของลูกค้าได้มีเพียงตัวลูกค้าเอง นักการตลาดทำได้แต่เพียงจัดเตรียมและสร้างบรรยากาศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเท่านั้น
อ้าว แล้วคราวนี้ไอ้เจ้า ‘Service’ ที่ผมบอกว่าเป็นเอกพจน์ คือ ไม่มี s นั้น หมายถึงอะไร ‘Service’ ตัวนี้คือ ที่มาของกระบวนทัศน์ด้านการบริการของการตลาดที่ผมมองว่าคือ การบริการเช่นเดียวกันเพียงแต่เป็นการมองถึงทั้งกระบวนการของการร่วมสร้างคุณค่ากับลูกค้า ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการส่วนหนึ่งในการขายหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งหากจะมองการทำการตลาดในยุคปัจจุบันกับการแลกเปลี่ยน (Exchange) สิ่งที่เราแลกเปลี่ยนกันจริง ๆ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ กับเงิน ประเด็นนี้ Professor Stephen Vargo and Professor Robert Lusch อธิบายว่าเราแลกเปลี่ยน การบริการ หรือ Service ที่ผมบอกไว้ แล้วการบริการนี้หมายถึงอะไร หากจะให้ยกตัวอย่างก็สามารถกล่าวได้ว่า นาย ก. เป็นช่างไม้ ที่ใช้ความชำนาญ และประสบการณ์ในการสร้างโต๊ะ นาย ข. เป็นเกษตรกรที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ในการปลูกผักและทำสวน นาย ข. ได้นำผักผลไม้ไปขายให้กับนาย ค. ได้เงินมา 1,000 บาท และนาย ข. ได้นำเงิน 1,000 บาทไปซื้อโต๊ะของนาย ก. ที่นาย ก. ใช้ทักษะ ความรู้ความาสามารถ และประสบการณ์ในการสร้างสรรค์โต๊ะ 1 ตัว ในกรณีนี้หากจะวิเคราะห์อย่างแท้จริงแล้ว สิ่งที่ นาย ก. และนาย ข. ทำการแลกเปลี่ยนกันคือ ทักษะและความสามารถ (Skills and Competences) เพียงแต่หน่วยในการเทียบทักษะและความสามารถของทั้งสองฝ่ายยากที่จะเทียบเคียง ทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบเงินตรามาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เงินจึงเป็นเพียงตัวกลางที่มาเชื่อมโยงหรืออำนวยความสะดวกให้กับทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเอง และที่สำคัญ การใช้เงินเป็นสื่อกลางทำให้ผู้คนยึดติดกับการตีราคาสิ่งของด้วยเงิน หรือที่เราเรียกว่า “คุณค่าจากการทำธุรกรรม” (Value-in-Transaction) ปรัชญาหรือมุมมองทางธุรกิจจึงวิ่งไปที่การสร้างกำไรสูงสุด ต่างจากมุมมองในกระบวนทัศน์ใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของลูกค้า (Value-in-Use) ที่ลูกค้าเป็นคนร่วมสร้าง ดังนั้น หากจะกล่าวว่า เรานิยามคำว่า ‘Service’ ว่าเป็นกระบวนการในการร่วมสร้างคุณค่ากับลูกค้าย่อมไม่แปลก เพราะในมุมมองนี้ เราให้ความสำคัญกับทั้งกระบวนการไม่ได้แต่เพียง ณ ขณะที่พบเจอหรือให้บริการลูกค้า ณ จุดขาย แต่ต้องเป็นการอำนวยความสะดวกลูกค้าให้สามารถสร้างคุณค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งฉีกกฎการตลาดแบบเดิมที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดเป็นมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ผมขอยกไปเล่าต่อใน Thailand 4.0 ตอนที่ 4 นะครับ ต้องยอมผิดสัญญาเพราะยิ่งเล่า ยิ่งมีประเด็นที่น่าสนใจครับ
มาถึงตรงนี้ แล้วเราจะพัฒนาการบริการ หรือ ‘Service’ นี้ได้อย่างไร และเจ้า ‘Service’ นี้เป็นระบบที่มาตรฐานพัฒนาแล้วใช้ได้ตลอดหรือไม่ มาถึงตรงนี้หากผมจะไม่ยกตัวอย่าง เอี้ยก้วย ก็กระไรอยู่ ใครที่เป็นแฟนละครกำลังภายในของโกวเล้ง คงไม่มีใครไม่รู้จักละครเรื่องมังกรหยกที่เป็นเรื่องราวของก้วยเจ๋ง อึ้งย้ง ซึ่งเอี้ยก้วยเป็นพระเอกของมังกรหยกภาค 2 ตอนจอมยุทธอินทรีย์ เอี้ยก้วยเป็นลูกชายคนเดียวของเอี้ยคัง เอี้ยคังเป็นลูกของเอี้ยทิซึม และเอี้ยทิซึมเป็นพี่น้องร่วมสาบานกับพ่อของก้วยเจ๋ง ดังนั้น เอี้ยคัง กับก้วยเจ๋งจึงเป็นพี่น้องกันโดยปริยาย ด้วยชีวิตของเอี้ยคังที่สูญเสียพ่อ และถูกชาวกิมนำไปเลี้ยงเนื่องจากท่านอ๋องของกิมก๊กถูกชะตาและต้องใจกับแม่ของเอี้ยคัง จึงพากลับไปอยู่ที่วังกิมก๊กด้วย แม้ว่าแม่ของเอี้ยคังจะไม่ชอบท่านอ๋อง แต่ลูกชายคือ เอี้ยคังกลับชอบความสะดวกสบายและในที่สุดยอมรับท่านอ๋องเป็นบิดา แต่ในยุคนั้น ชาวฮั่นรบกับกิมก๊ก ทำให้เอี้ยคังต้องเป็นศัตรูกับก้วยเจ๋งและอึ้งย้งที่มีความรักชาติ และต้องต่อสู้กันหลายครั้งซึ่งก้วยเจ๋งไม่อยากที่จะสู้กับเอี้ยคังซึ่งเป็นพี่น้องกัน แต่เอี้ยคังไม่ได้มองเช่นนั้น กลับหาทางที่จะกำจัดอึ้งย้งจึงใช้ยาพิษซัดไปที่ด้านหลังของอึ้งย้ง โชคดีที่อึ้งย้งใส่เสื้อเกราะที่อึ้งเอี๊ยซือ มารบูรพาให้ไว้ทำให้พิษไม่สามารถทำอะไรอึ้งย้งได้ แต่พิษยังคงติดที่เสื้อเกราะนั้น จนวันหนึ่ง เอี้ยคังลอบสังหารและซัดฝ่ามือใส่อึ้งย้งจากด้านหลัง ไม่รู้อะไรดลใจทำให้เอี้ยคังซัดฝ่ามือไปที่จุดที่ยาพิษยังคงอยู่ และพิษนั้นจึงเข้าสู่ตัวของเอี้ยคังตามรูปแบบให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว แม้ว่าอึ้งย้งและก้วยเจ๋งจะไม่ได้เป็นคนฆ่าเอี้ยคัง แต่ด้วยความสำนึกผิดทำให้ทั้งสอง ให้ความรักและเมตตากับเอี้ยก้วยมากจึงได้พยายามถ่ายทอดวิทยายุทธให้กับเอี้ยก้วย และไม่ใช่ทั้งสองคนเท่านั้น ยอดฝีมือในยุทธภพต่างได้ถ่ายทอดยอดวิทยายุทธให้กับเอี้ยก้วย ทำให้เอี้ยก้วยมีความรอบรู้ในวิทยายุทธจากหลากหลายสำนัก และกลายเป็นจอมยุทธรุ่นเยาว์คนหนึ่งในยุคนั้น แต่มีคนหนึ่งที่เอี้ยก้วยไม่สามารถเอาชนะได้เลย ต่อสู้กันหลายครั้งก็ไม่เคยชนะ นั่นคือ นักพรตจักรทอง แม้กระทั่งตัวนักพรตจักรทองยังชื่นชอบเอี้ยก้วยไม่เคยคิดเอาชีวิตเอี้ยก้วยเลย จนวันหนึ่งเอี้ยก้วยจึงได้ถามว่าเพราะเหตุใดถึงเอาชนะนักพรตจักรทองไม่ได้ทั้งๆ ที่มียอดวิชาและรอบรู้ในวิทยายุทธ นักพรตจักรทองหัวเราะดัง ๆ แล้วตอบว่าเพราะว่าเอี้ยก้วยไม่รู้จักเลือกใช้วิทยายุทธให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทำให้ไม่มีวันที่จะเอาชนะได้ เอี้ยก้วยยังหาหนทางไม่ได้จนกระทั่งวันหนึ่งเอี้ยก้วยต้องสูญเสียแขนขวาซึ่งเป็นข้างถนัดไป เอี้ยก้วยท้อแท้ต่อชะตาที่ต้องเสียทั้งคนรักและแขนขวา แต่โชคดีที่มีนกอินทรีย์ยักษ์มาช่วยชีวิตและสอนวิชาให้กับเอี้ยก้วยทำให้เอี้ยก้วยลุกขึ้นสู้ เวลาไม่นานนักหลังจากทบทวนและวิเคราะห์จุดอ่อนของตัวเอง เอี้ยก้วยจึงเข้าใจว่าต้องประยุกต์ยุทธวิธีให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่มุ่งมั่งด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ทำให้ท้ายสุดเอี้ยก้วยกลายเป็นจอมยุทธที่ยากหาใครต่อกรได้
บทเรียนเรื่องเอี้ยก้วยสอนอะไรเรา เอี้ยก้วยเป็นตัวอย่างของการบริการ หรือ ‘Service’ ที่เราให้ความสำคัญกับทั้งกระบวนการ เลือกใช้ทักษะและความชำนาญ ตลอดจนประสบการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหมือนกับเช่นในการดำเนินธุรกิจที่นักการตลาดต้องตระหนักรู้ว่าในการแข่งขันในธุรกิจนี้ นักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับอะไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้ และจะต้องติดต่อหรือประสานงานกับใคร และในแต่ละสถานการณ์จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เราต้องวิเคราะห์และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ และที่สำคัญภายใต้แนวคิดนี้ ‘Service’ อาจจะถูกมองก้าวข้ามการเป็นเพียงแค่มุมมองการตลาด กูรูบางท่านมองเป็นการจัดการเชิงยุทธ์ขององค์กร เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ แต่หากจะมองในมุมที่ผมได้เล่ามาตั้งแต่ต้น ‘Service’ เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับแบรนด์เพราะเราต้องมองว่า ‘Service’ คือกระบวนการทุกกระบวนการที่เราจะทำเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในการสร้างคุณค่า หรือเราจะทำทุกวิถีทางให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการ ด้วยเหตุนี้ในการร่วมสร้างคุณค่ากับลูกค้า ‘Service’ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การพูดคุย สนทนา หรือค้นหาสิ่งที่ลูกค้าให้คุณค่าผ่านบทสนทนาที่มีการออกแบบและพัฒนาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบจากลูกค้า อาจจะรวมไปถึงการสังเกตุและทำความเข้าใจกับพฤติกรรม ท่าทาง หรือคำพูดของลูกค้า และนักการตลาดหรือพนักงานของธุรกิจต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และไม่ว่าลูกค้าจะต้องการอะไร ลูกค้าจะได้สิ่งนั้น เพียงแต่ลูกค้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สิ่งนี้หลายท่านอาจจะตอบผมว่าทำได้จริงหรือ ผมตอบได้ว่าจริงเพราะมีธุรกิจโรงแรมในอ่าวไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ทำได้แต่ผมจะยกไปเล่าในตอนที่ 4 ครับ
ตั้งใจว่าจะจบแต่ก็จบไม่ลงอีกครับ ไม่เป็นไรครับ จบ Blog สุดท้ายของปี 2559 พบกันตอนหน้าในปีหน้า 2560 นะครับ ท้ายสุดนี้ก็ขอสวัสดีปีใหม่ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านพบเจอแต่ความสุข สมหวัง คิดเงินได้เงิน คิดทองได้ทองครับ สำหรับวันนี้เช่นเคยครับ หากท่านผู้อ่านต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมส่งข้อความได้ครับที่ psiwarit@gmail.com นะครับ ขอบคุณครับ 
Siwarit Valley 2016 ©สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง



No comments:

Post a Comment

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand