ช่วงนี้กระแสลูกเทพกำลังโด่งดังบนโลกโซเชียลมีเดีย
และบนสื่อต่าง ๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
และมีข้อถกเถียงกันมากมายทั้งจริง ไม่จริง งมงาย ไม่งมงาย
และเมื่อความเห็นไม่ตรงกันการพนันย่อมเกิดขึ้น เอ้ย ไม่ใช่
ทำให้มีการสร้างกระแสที่แตกต่างกันทั้งการจองที่นั่งบนเครื่องบิน Thaismiles การเข้าไปกินอาหารบุ๊ฟเฟต์ รวมไปถึงการออกกฎกรณีของการนำลูกเทพเข้าห้องเรียนว่าเข้าได้
แต่ต้องตอบคำถาม ส่งรายงานเหมือนนักศึกษาคนอื่น ๆ
ผมนั่งอ่านเรื่องนี้ก็แอบดีใจเพราะมุมมองการตลาดเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual
Marketing) ที่ผมและคณะนำเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังไปนำเสนอในการประชุมวิชาการ
Association for Consumer Research ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษเมื่อปี
2553 จะได้เห็นภาพชัดเพราะที่ผ่านมาหลาย ๆ คนตีความ Spiritual Marketing เป็นการตลาดเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม แม้กระทั่งหลายคนไปหนังสือเรื่องการตลาด
3.0 ก็พาลคิดไปเช่นนั้น ไม่ผิดครับ หากแปลตามตัวหนังสือ
แต่ในทางปฏิบัติและทฤษฎีด้านการตลาดที่ผม ร่วมกับ Prof.Jonathan Schroeder และดร.ธีรนุช พูศักดิ์ศรีกิจได้นำเสนอแล้ว Spiritual Marketing มีอะไรมากกว่านั้น วันนี้เลยต้องขอเกาะกระแสลูกเทพครับว่ากระแสลูกเทพเกิดขึ้นมาจากอะไร
และเป็นเรื่องงมงายหรือเปล่าของผู้บริโภคชาวไทยในทุกวันนี้ อย่างในรูปด้านล่างพี่โน้ต
อุดม ที่ปล่อยมุกเด็ดสุดฮา “ลูกเทพ” บนเวทีเดี่ยว 11
ก็นำตุ๊กตาลูกเทพมามอบให้กับเทพตัวพ่อ หรือเทพ โพธิ์งาม
หากจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องลูกเทพ
ผมมองว่าเราพบเจอคนหลายกลุ่ม กลุ่มแรก อยากได้ กลุ่มที่สอง คิดว่าไร้สาระ และพยายามแสดงตัวตนว่าไม่เห็นด้วยผ่านการเสียดสี
แซว หรือนำเสนอรูปภาพเปรียบเทียบ กลุ่มที่สาม คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
เอามาแซวเล่นหรือพูดกันเพื่อความสนุกสาน แล้วผมเห็นอะไรจากตรงนี้หรือครับ
ผมมองด้วยมุมมองการบริโภคจิตวิญญาณ หรือการตลาดเชิงจิตวิญญาณ
ผมว่าเป็นเรื่องปกติของโลก หากเราอ่านหนังสือคู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาส
ท่านบอกว่าเมื่อคนเราเกิดความกลัว เราจะมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่อาจจะเป็นผี ฟ้าฝน
เทพเจ้า หรือศาสนา ทุกวันนี้เราอยู่บนโลกของความเชื่อครับ เอาง่าย ๆ
ช่วงนี้หลายคนกำลังวิ่งวุ่นว่าจะไปแก้ชงที่ไหนดี
คนที่ไม่เชื่อก็บอกต้องไม่นั่งทิศตะวันตัก จะได้ไม่ต้องเป็นคนชงเหล้า เอากับเขาสิ
มีได้ทุกรูปแบบ เรื่องชง ลองไปดูช่วงตรุษจีนครับ วัดเล่งเน่ยยี่ที่เยาวราช
เดี๋ยวนี้ไปแก้ชงกันหมดทั้งไทย จีน หลายคนที่คาดว่าจะได้เห็นอาหมวย
อาตี๋ในวัดจีนไม่ใช่แล้วครับ ไทยแท้มาเลยครับ เพราะอะไรหล่ะครับ “กลัว” ใช่ไหมครับ
งานที่ผมไปนำเสนอในลอนดอนที่พูดถึงเรื่องการตลาดเชิงจิตวิญญาณ ผมเรียกว่า “การบริโภคความกลัว”
หรือ Fear
Consumption ที่สรุปว่าคนเราบริโภคหรือแสวงหาสิ่งของมาบริโภคเพราะเรากลัว
กลัวไม่หล่อ กลัวจน กลัวไม่ขาว กลัวไม่มีคนรัก กลัวตาย กลัวนั่นกลัวนู่น กลัวนี่
เป็นต้น ถึงตอนนี้
ผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการครั้งนั้นบอกว่าผมทุบปิรามิดของ Maslow ซะแบนเหลือเพียงขั้นเดียว คือ แรงจูงใจจากความกลัว แต่ผมก็มิกล้า
มิบังอาจที่จะไปท้าทายทฤษฎีของปรมาจารย์ระดับ Maslow เอาเพียงแค่เราเอามาใช้ในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็พอครับ
จากตรงนี้พอเห็นภาพใช่ไหมครับว่าทำไมกระแสลูกเทพ หรือปีชงจึงได้รับความสนใจ เพราะคนเรากลัว
แต่ที่กลัวมากที่สุดในยุคนี้คือ “กลัวจน”
อันเนื่องมาจากเราอยู่ในโลกทุนนิยมเต็มรูปแบบ
วัตถุสิ่งของที่มีคุณค่าจึงกลายเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก
ผมเห็นหมอปลามือปราบสัมภะเวสีออกรายการแฉแต่เช้าของพี่มดดำ
เลยอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งผมเห็นด้วยกับที่หมอปลาว่าไว้ครับว่า “ลูกเทพ”
เป็นเพียงแค่ตุ๊กตายาง เห็นด้วยครับ และแอบคิดว่าเผลอ ๆ
เราสร้างให้เป็นเหมือนวัฒนธรรม K Pop หรือ J Pop แล้วส่งออกตุ๊กตาลูกเทพสู่ AEC รวมถึงเอเชีย
ก็จะช่วยพี่น้องชาวสวนยางได้อีกครับ คราวนี้ในแง่การตลาดเชิงจิตวิญญาณนั้น
เรามองว่าทุกวันนี้ที่ผู้บริโภคในปัจจุบันแสวงหา iPhone iPad รถยนต์ราคาแพง เสื้อผ้าแบรนด์เนม บ้านหลังใหญ่ ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ดัง ๆ
ก็ไม่ต่างกับการบริโภคลูกเทพเลย ลองถามคำถามย้อนกลับง่าย ๆ
ว่าทำไมเราถึงเชื่อว่าการขับรถเมอร์ซีเดสเบนซ์ทำให้ภาพลักษณ์ผู้ขับขี่ดีกว่า
ทำไมเราต้องซื้อ iPhone ทั้ง ๆ
ที่มีโทรศัพท์มือถือราคาถูกกว่าให้เลือก ฟังค์ชั่นการใช้งานก็ไม่แตกต่างกัน
ทำไมเหรอครับ ทั้งสองตัวอย่างก็เป็นเพียงวัตถุ สิ่งของ
แต่ทำไมเราเชื่อมั่นว่าจะช่วยเราได้ คำตอบอาจจะเป็นเพราะเราศรัทธาในดาวสามแฉก หรือ
แอปเปิ้ลนั่นเองใช่ไหมครับ ซึ่งในแง่รถยนต์กับโทรศัพท์มือถือก็เป็นความกลัวอีกแบบหนึ่ง
ที่ต่างจากประเภทความกลัวที่กระตุ้นให้ผู้คนแสวงหาลูกเทพมาครอบครัว พูดถึงตรงนี้
หลายคนหัวใสกลัวว่าผู้คนจะไม่เชื่อว่าลูกเทพมีวิญญาณเด็กที่มาคอยช่วยเหลือผู้ปกครองจริง
ๆ
ก็พยายามหาวิธีการที่ทำให้ตุ๊กตากลายเป็นเทพด้วยการนำกระดูกคนตายมาใส่ไว้ในตัวตุ๊กตา
หรือนำตุ๊กตาเข้าสู่พิธีกรรมปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์
พิธีกรรมทั้งสองก็ไม่ต่างอะไรกับการที่แบรนด์ดัง ๆ
ใช้ดาราหรือเซเล็บมาเป็นคนสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์นั้น ๆ เพียงแต่พิธีกรรมที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง
ในยุคนี้ ยุคที่ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ลูกเทพ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีกำลังใจ
งานนี้เรื่องลูกเทพจึงกลายเป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของที่ไม่มีชีวิต
กับความเชื่อที่ถูกสร้างสรรค์จนกลายเป็นมีตัวตนขึ้นมา ความเชื่อหรือความศรัทธาที่ผู้ครอบครองมีอาจจะเป็นพลังที่ช่วยทำให้มีกำลังใจมากขึ้น
หรือวิญญาณที่ถูกสร้างขึ้นแสดงปาฏิหาริย์ช่วยเหลือผู้ครอบครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้
แต่หลายที่มีการสร้างเทพเจ้าขึ้นมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจได้ดังเช่นที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ในคู่มือมนุษย์
มีเรื่องเล่าถึงขนาดกองขี้หมาที่กลายเป็นสถานที่สักการะในหมู่บ้านเนื่องจากมีคนนำพวงมาลัยไปวางไว้
คนอื่น ๆ ที่ผ่านทางมาเห็นและเกิดความเชื่อ ทำตาม
บนบานศาลกล่าวได้ผลสัมฤทธิ์ดังหวังก็กลับไปแก้บน
หรือที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ผมสอนอยู่ทุกวันนี้
ที่นี่ไม่มีศาลพระภูมิหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้นักศึกษาได้ยึดเหนี่ยว
แล้วนักศึกษาจะหาสิ่งยึดเหนี่ยวจากไหน คำตอบอยู่ในรูปเลยครับ
ภาพขวดน้ำแดงที่ตั้งอยู่หน้าป้ายตึกเป็นเรื่องปกติที่พบเจอในช่วงหลังจากประกาศผลสอบที่นักศึกษาจะนำน้ำแดงมาถวายป้ายอาคารไทยบุรี
หรือบางคนจะมาวิ่งรอบอาคารไทยบุรีเพื่อแก้บน ความเชื่อนี้สอบถามย้อนหลังไปจนถึงนักศึกษารุ่นแรก
ๆ พบว่าเริ่มมีจริง ๆ ชัดเจนประมาณ 10 ปีที่แล้ว
การเกิดขึ้นก็ไม่ต่างอะไรกับกระแสลูกเทพ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องงมงาย
แต่สำหรับผม อะไรที่เรามองไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่มีจริง ผมก็ยังไม่ตัดใจ
มีเพียงแต่ว่าอะไรที่เราทำแล้วมีความสุขเราก็ทำต่อไป
บางครั้งสิ่งที่มีพลังมากที่สุดในชีวิต คือ พลังใจครับ
ทำไมเวลาไฟไหม้สามารถยกตู้เย็นวิ่งได้ แต่พอจะยกกลับต้องใช้คนสามคนยกกลับ
เพราะฉะนั้น วันนี้ ผมฟันธงครับว่า ลูกเทพ มีจริงครับ
ก็ขอตัวไปเลี้ยงลูกเทพต่อครับ ต้องเตรียมนม พาไปเรียนพิเศษ เตรียมตัวไปโรงเรียน
พาเข้านอนครับ คนนี้เทพจริง ๆ ครับ
ท้ายสุด ลูกเทพเป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยอธิบายเรื่องการตลาดเชิงจิตวิญญาณได้เป็นอย่างดี เป็นเรื่องของการสร้างเรื่องราวหรือจิตวิญญาณให้กับสิ่งของที่ไม่มีชีวิตให้มีตัวตน และคุณค่าของลูกเทพ นอกเหนือจากมีคุณค่าต่อผู้ครอบครอง ยังมีคุณค่าต่อพวกเราที่ทำให้เรามีเรื่องในการพูดคุย หรือแซวกันสนุกสนาน อะไรที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนต่อคนรอบข้างทำต่อไปเถอะครับ
สุดยอดเลยค่ะอาจารย์ จอยเคยแอบนึกเช่นเดียวกับอาจารย์ คิดในแง่ของการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวใจเพื่อปกปิดปม รึต้องการเพื่อนที่อยู่ข้างๆทุกอุปสรรครึความสำเร็จ 555++ อาจจะต้องพัฒนาการตลาดให้ขึ้นแล้วสิน่ะค้าา ขอบคุณสำหรับแนวคิดใหม่ๆ น่ะค้าารักอาจารย์ฝุดๆๆ
ReplyDeleteสุดยอดเลยค่ะอาจารย์ จอยเคยแอบนึกเช่นเดียวกับอาจารย์ คิดในแง่ของการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวใจเพื่อปกปิดปม รึต้องการเพื่อนที่อยู่ข้างๆทุกอุปสรรครึความสำเร็จ 555++ อาจจะต้องพัฒนาการตลาดให้ขึ้นแล้วสิน่ะค้าา ขอบคุณสำหรับแนวคิดใหม่ๆ น่ะค้าารักอาจารย์ฝุดๆๆ
ReplyDelete