Saturday, 30 April 2016

วัฒนธรรมของผู้บริโภค: เมื่อการตลาดคือเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม

      สวัสดีครับ Siwarit Valley กลับมาอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ปีที่แล้วผมกล่าวถึงเรื่องภูทับเบิกและการบริโภคอย่างมีจิตสำนึก (mindful consumption) และฝากไว้ก่อนจะมาต่อในตอนต่อไปกับประเด็นภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” แต่ก็มีเรื่องลูกเทพเข้ามาคั่นทำให้ผมยังรู้สึกติดค้างอะไรบางอย่าง ประกอบกับช่วงนี้ตั้งแต่สงกรานต์เป็นต้นมามีประเด็นของขันแดง และการยืนนิ่งเฉย ๆ กับอีกหลาย ๆ เรื่องเลยถือโอกาสนำมาเขียนอีกครั้งรวมกันไปเลยเพราะหลายเรื่องนี้ ผมมองว่าคือประเด็นเดียวกันตั้งแต่อาบัติ ขันแดง จนถึงยืนเฉย เพราะเป็นสิ่งที่เหมือนกันคือการสร้างวัฒนธรรมของผู้บริโภค หรือ Consumer Culture ที่โดยส่วนใหญ่คนที่มาทางสายสังคมมานุษยวิทยาจะมองเห็นภาพและกระบวนท่าชัดเจน ผมอาจจะถึงขั้นนั้นเพราะมาทางสายการตลาดเพียว ๆ แต่ด้วยความโชคดีได้เจอบรรดากูรูการตลาดสาย Consumer Culture Theory หรือ CCT ตอนที่ไปเรียนที่ Exeter ทำให้ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธมาอยู่บ้าง แต่ยังไม่ถึงขนาดเก่งกล้ามาก หลายคนอาจจะแย้งว่าเรียนการตลาดก็เรียน 4P’s กลยุทธ์การตลาด ฯลฯ ก็น่าจะพอแล้วไม่ใช่หรือ เมื่อก่อนผมก็คิดแบบนั้น แต่พอไปดูการเรียนการสอนการตลาดในต่างประเทศ ไปเข้าร่วมคอร์สสั้น ๆ ด้านนี้ทำให้รู้เลยว่าเราเคยคิดว่าเราเจ๋งเพราะรู้เรื่องที่กล่าวมานั้นกลายเป็นเด็ก ๆ ไปเลยเมื่อนั่งคุยกับเด็กเมกา หรือเด็กยุโรป จนถึงวันนี้ ผมแนะนำให้ลูกศิษย์การตลาดไปเรียนต่อปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษาที่สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อเรียนรู้มุมมองแบบนี้ที่สามารถมาประยุกต์เข้ากับการตลาดภายใต้กรอบแนวคิด CCT ได้ และพอได้มีโอกาสสอบถามถึงการเรียนรู้ คำตอบที่ได้รับคือ สุดยอดมาก ๆ เห็นภาพสิ่งที่ผมสอน เห็นภาพความเป็นไปทางการตลาด การบริโภค สังคมและวัฒนธรรม
          หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมผมถึงมองว่าเรื่องอาบัติ เรื่องขันแดง เรื่องยืนเฉย ๆ ถึงเป็นเรื่องเดียวกัน บางคนก็พาลไปต่อว่าเจ้าหน้าที่ว่าจับขันแดง จับคนยืนเฉย ๆ บ้าหรือเปล่า แต่หากวิเคราะห์ดูให้ดีไม่ใช่แค่ขันแดง ไม่ใช่แค่ยืนเฉย ๆ แต่เป็นกระบวนการสร้างความหมายเชิงสัญญะ หรือถ้าใครเคยอ่านหนังสือหลักการตลาดผม ผมจะใช้คำว่า “ความหมายเชิงสัญลักษณ์จากการบริโภค” คราวนี้เรื่องขันแดง กับยืนเฉยอาจจะคล้ายกัน แล้วภาพยนตร์เรื่องอาบัติหล่ะครับมีปัญหาอะไร หากผมจะถามว่าสิ่งที่สำคัญของการบริโภคของผู้บริโภคอย่างพวกเราคืออะไร ทำไมหลังจากละครเกาหลี “Descendants of the Sun” จบลง สาว ๆ หลายคนถึงอยากเป็นภรรยาทหาร ปรากฏการณ์เมียทหารเกิดขึ้นต่อจากปรากฏการณ์เมียซัปปุย 555 สาว ๆ หลายคนหาซื้อเครื่องสำอาง “Laneige” มาใช้เพื่อให้ติดประกายหมอคังมาซักนิดก็ดี ตอนผมสอนเด็ก ๆ ผมแค่เอามือลูบลงมาเป็นหน้าม้า ลูกศิษย์ก็กรี๊ดแล้ว ทำไมหรือครับ เพราะผมไปเลียนแบบ "จุงกิ" ของสาว ๆ นั่นแหละครับ เค้ารับไ่ม่ได้ 555 สิ่งนี้แหละครับเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่กำหนดพฤติกรรมการบริโภคของพวกเราในปัจจุบัน ถ้าจะเรียกให้ชัดเจนหน่อยอาจจะเรียกว่าเป็น “การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม” (Cultural Reproduction) ที่เกาหลีหรือญี่ปุ่นใช้กันมาโดยตลอด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจผมที่ผมไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตอนสมัยที่กำกับดูแลการสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ผมมองเป้าหมายเดียวกัน เพราะหากสามารถใช้ละครจะทำให้ผู้คนมองเห็นมุมมองสวย ๆ ในแบบที่ไม่เคยมองได้อีกทางหนึ่ง และสามารถสื่อสารส่ิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ได้อย่างดี
ที่มา: http://pantip.com/topic/34923662

          คราวนี้ย้อนกลับมาเรื่องของอาบัติ มีอะไรเป็นปัญหาหรือครับ อย่างที่ผมกล่าวไปเรื่องหมอคังที่ทำให้หลาย ๆ คนอยากเป็นเมียทหาร หาซื้อเครื่องสำอางที่หมอคังใช้ เป็น Product Placement ที่มีอิทธิพลอย่างมาก คนดูหนังหรือละครแล้วอินเป็นเรื่องปกตินะครับ ทำไมดาวร้ายหลาย ๆ คนถึงเกือบถูกทุเรียนตบหน้ากลางตลาดเวลาเดินมาซื้อของ เรื่องอาบัติก็มีโอกาสเช่นนั้นอีกทั้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเนื่องจากเกี่ยวข้องกับศาสนาประจำชาติของประเทศไทยเรา ยิ่งเนื้อหาเป็นการพูดถึงการกระทำผิดวินัยของพระสงฆ์ เมื่อมีการแสดงและนำเสนอภาพซ้ำ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง การรับรู้หรือการจดจำของผู้บริโภคก็จะรับรู้ข้อความนั้นเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภค และเมื่อเดินไปเจอพระสงฆ์เดินมา โอกาสที่ผู้บริโภคคนนั้น ๆ จะคิดว่าพระสงฆ์ที่เดินมานั้น “จริง” หรือ “ปลอม” “ดี” หรือ “เลว” ถ้าเป็นเรื่องอื่นผมมองว่าอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกอาจจะทำให้คนไทยเราที่เป็นชาวพุทธไม่อยากที่จะเข้าวัดเพื่อทำบุญ ในทางธรรม การคิดหรือตำหนิพระสงฆ์ที่ถือศีลมากกว่าเราถือว่าเป็นบาปหนักเพราะเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ดังนั้น การปล่อยให้อาบัตินำเสนอภาพแบบรุนแรงอาจจะส่งผลดังที่ผมว่า อย่างไรก็ตาม อีกมุมมองก็มีคนบอกผมว่าเป็นการโปรโมทที่ทำให้ผู้คนสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกรังแก และทำให้ผู้ชมเข้าไปสนับสนุน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล
          มาถึงตรงนี้ คำถามอาจจะเกิดขึ้นกับเรื่องของ “ขันแดง” และ “ยืนเฉย” ว่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่ผมพูดวันนี้ ถ้าเป็นขันแดงที่วางอยู่ในส้วมที่บ้าน หรือผมยืนเฉย ๆ ที่บ้านผมก็คงไม่เป็นไร แต่นัยนี้ ขันแดงถูกโยงไปเรื่องการเมือง เรื่องบุคคลและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ ผมไม่ขอกล่าวถึงเรื่องนี้เพราะไม่มีเจตนาโยงการเมืองกับวิชาการ เมื่อขันแดงถูกนำมาใช้กับสถานการณ์ช่วงวันสงกรานต์ที่จังหวัดน่าน เมื่อพล็อตเรื่อง กับอุปกรณ์พร๊อพตรงกัน ความหมายเชิงสัญญะก็ถูกสร้างขึ้น เช่นเดียวกันกับการยืนเฉย ๆ ผมก็ยืนเฉย ๆ ตอนรอเครื่องบิน ไม่เห็นมีพี่นักข่าวมาถ่ายผมเลย กล้องวีดีโอก็ไม่มี ก็เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะยืนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการรอเครื่องบิน ผมนั่งคุยเรื่องนี้กับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็งงว่าผมโยงได้อย่างไร ผมเลยชูนิ้วกลางขึ้น แล้วถามว่าผมทำแบบนี้ ผมผิดไหม เด็กบอกไม่ผิด แต่ถ้าผมไปยกกับคนที่ไม่รู้จัก เด็ก ๆ ก็รอไว้อาลัยอย่างเดียว 555 ผมเลยถาม แล้วนิ้วกลางผิดตรงไหน นิ้วก็นิ้วผม มือก็มือผม เด็กก็บอกว่านิ้วกลางคือสัญลักษณ์ของสุภาพบุรุษ ผมเลยถามต่อ เขียนไว้ตรงไหน ผมก็ไม่ได้เขียนไว้บนนิ้วผม พูดไม่ทันจบ เด็ก ๆ ก็เอาอุปกรณ์การเรียนของผม คือนิ้วกลางไปเล่นกับเพื่อน ๆ ทันทีว่าอย่าโกรธนะ นิ้วชั้น 555 ทำไปได้ ผมถึงได้สรุปให้เด็ก ๆ ได้เห็นว่านิ้วกลาง ขันแดง หรือยืนเฉย ๆ ก็คือเรื่องเดียวกัน มีกระบวนการเกิดขึ้นเหมือน ๆ กันผ่านการร่วมสร้างความหมายและถูกสื่อออกมาทางอุตสาหกรรมวัฒนธรรม หรือ Cultural Industry ซึ่งก็คือสื่อต่าง ๆ ภาพยนตร์ ละคร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น เมื่อถูกสื่อสาร นำเสนอ และย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง สิ่งของ (object) นั้น ๆ ก็จะกลายเป็นสื่อสัญลักษณ์ (symbol) ไม่ต่างอะไรกับการยืนชูสามนิ้วของม็อกกิ้งเจย์นั่นเอง

          ทั้งนี้ ผมในฐานะนักการตลาด คนการตลาดก็มองเห็นถึงพลังอำนาจของวัฒนธรรมผู้บริโภค หรือ Consumer Culture และผมก็มองในมุมที่ว่าผมจะนำวัฒนธรรมผู้บริโภคนี้มาใช้ในด้านบวก ในการสร้างตราสินค้า ในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดให้เหนือกว่าคู่แข่งขันได้อย่างไร ในส่วนนี้ ตราสินค้าก็เปรียบเสมือนสิ่งของ (Object) ที่เรากำลังจะใส่ความหมายลงไป แต่ในกระบวนทัศน์การตลาดสมัยใหม่ คนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความหมายนั้น คือลูกค้า ไม่ใช่นักการตลาดอีกต่อไป ซึ่งผมเคยกล่าวไว้แล้วและคงไม่ต้องกล่าวถึงใหม่ ใครที่ยังไม่เคยอ่าน ลองย้อนกลับไปอ่านบทความที่ผมเขียนถึงกระบวนการตลาดสมัยใหม่ หรือแนวคิดการตลาดสมัยใหม่ก็จะได้เห็นแนวคิดหรือมุมมองที่ผมจะนำเสนอ และครั้งหน้าผมจะกลับมากับเรื่องของการท่องเที่ยวที่ประเทศจีนจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเทียมขึ้นเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวในประเทศแทน มีมุมมองหรือประเด็นที่น่าสนใจมากครับ วันนี้คงฝากไว้เท่านี้ แต่เจอหน้าผมอย่าชูนิ้วให้ผมนะครับ เช่นเคยครับ หากท่านใดต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมส่งข้อความได้ครับที่ psiwarit@gmail.com นะครับ ขอบคุณครับ

Welcome to Siwarit Valley

My photo
Nakhon Sri Thammarat, Thailand
สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช Thailand