สวัสดีครับ Siwarit
Valley กลับมาอีกครั้งหลายจากที่หายไปนานครับ ไม่ได้หนีไปไหนครับ
แต่ด้วยภารกิจงานสอน และวิจัยที่ปีที่ผ่านมา หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืนของพวกเราได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) หลายเรื่องด้วยกัน ไม่ได้โม้แต่อยากบอกว่ามูลค่าทุนสนับสนุนประมาณ 4
ล้านบาทครับ เห็นแว่ว ๆ
มาว่าเป็นหน่วยวิจัยทางสังคมศาสตร์หน่วยเดียวที่ได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงที่สุด
ว่ากันว่าบางคนไม่รู้มาคุยข่มทีมงานของเราว่าได้เงินวิจัยปีละ 100,000 บาทไม่มีใครสู้ได้ ก็ไม่เป็นไรครับ เรามองที่เนื้องานกันดีกว่า
ที่ต้องกลับมาเขียน Blog เพราะเห็นประเด็นอยู่ 2 ประเด็นที่ต้องพูดคุยกันในช่วงนี้ ได้แก่
กรณีภาพยนตร์เรื่องอาบัติที่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นอาปัติ
และกรณีของภูทับเบิกที่มีภาพนักท่องเที่ยวแห่ขึ้นไปแย่งอากาศ แย่งที่พัก
แย่งที่จอดรถบนถนน (รถติด) กันจำนวนมาก แต่วันนี้จะขอกล่าวถึงกรณีหลังก่อนคือ
ภูทับเบิก เนื่องจากผมกำลังดำเนินงานวิจัย แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียว
จังหวัดกระบี่ ที่ไม่ใช่ทำเพียงแค่ให้เมืองเป็นสีเขียวของต้นไม้นะครับ
แต่มีมิติที่หลากหลาย
ที่มา: http://www.innnews.co.th
กรณีภูทับเบิกที่เกิดขึ้นและมีภาพการแห่ขึ้นไปท่องเที่ยวกันจำนวนมากในช่วงวันหยุดยาวสิ้นเดือนตุลาคมนี้
อาจจะเป็นเพราะเหตุผลหลัก ๆ สองสามประการ ได้แก่
เดินทางสะดวกจากกรุงเทพมหานครไปไม่กี่ชั่วโมง
ความสวยงามที่เห็นจากภาพถ่ายที่ลงบนโลกโซเชียล และการพูดปากต่อปากของเพื่อน ๆ
คราวนี้เมื่อเวลามาบรรจบ ผู้คนจึงไปเที่ยวที่ภูทับเบิกโดยไม่ได้นัดหมาย
และเราไม่ใช่เห็นกรณีของภูทับเบิกเป็นที่แรก
กี่ครั้งแล้วที่เราต้องเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทำลายด้วยมือเรา ที่ไหนบ้างหรือครับ
อ่าวมาหยา เกาะพีพี ปาย และอีกหลาย ๆ
ที่ที่ต้องสูญเสียมนต์ขลังที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว
เวลาเกิดปัญหาสปอตไลท์พุ่งตรงไปที่หน่วยงานราชการในพื้นที่ทันทีว่าดูแลอย่างไร
จัดการอย่างไร ทำไมไม่เข้ามาดูแล แต่เมื่อเรามองถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
องค์ประกอบมีมากกว่าหน่วยงานราชการในพื้นที่นะครับ เรามีนักท่องเที่ยว
เรามีผู้ประกอบการ เรามีชุมชนท้องถิ่น เรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล หลายปีก่อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับภูทับเบิกในวันนี้เกิดขึ้นกับปาย
เราก็เห็นกันอยู่ ทำไมเรายังคงทำการท่องเที่ยวเลื่อนลอย และย้ายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ
นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการก็แห่ตามกันไปหมด พอพัง ออกข่าวและหาคนผิด
แต่ไม่เป็นไรครับ
ในประเทศไทยก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแหล่งที่ไม่ยอมให้พื้นที่ตัวเองเป็นแบบนั้น
โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ที่ชุมชนหลายแห่งลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้คงความสวยงามไว้
อาทิ พี่นราธร แห่งชุมชนทุ่งหยีเพ็ง พี่บัญชา ชุมชนบ้านนาตีน พี่ตู่
ชุมชนบ้านถ้ำเสืออ่าวลึก เป็นต้น แต่พี่ ๆ
เหล่านี้ไม่สามารถต้านทานกระแสเพียงลำพังได้คงต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย
คราวนี้
ปัญหาที่แท้จริงของการท่องเที่ยวบ้านเราคืออะไร เรามองเห็นภาพรถยนต์จอดบนถนนยาวเหยียดไม่มีทีท่าว่าจะขยับ
เห็นภาพการตั้งธุรกิจบนภูทับเบิก หลายคนบอกว่านี่คือปัญหา ประเด็นนี้เวลาผมสอนหนังสือ
ผมก็จะสอนให้ลูก ๆ ผมคิดและวิเคราะห์ว่าอะไรคือปัญหา เพราะถ้าวิเคราะห์ไม่ถูก
เราก็แก้ปัญหาไม่ถูก ผมจึงเสนอแนวทางวิเคราะห์ปัญหาแบบอริยะสัจ 4 นั่นคือ หาต้นเหตุของปัญหาและแก้ที่ต้นเหตุนั้นเพื่อระงับไม่ให้ปัญหาเกิด
คราวนี้แล้วภาพที่เราเห็นที่ภูทับเบิกคืออะไร ผมบอกได้เลยครับว่าคือ อาการ เช่นเดียวกับการที่เราเป็นไข้เพราะตากฝนและนอนเปิดแอร์ไม่ห่มผ้า
อันนี้คืออาการ เรากินยาคือการรักษาอาการ แต่ปัญหายังไม่ได้แก้
เพราะหากเรายังทำตัวเหมือนเดิมเราก็จะเป็นอีก ย้อนกลับมาเรื่องภูทับเบิก
ซึ่งผมมองว่าอีกหลาย ๆ พื้นที่ก็มีสาเหตุของปัญหาเดียวกัน นั่นคือ
การมองว่าการท่องเที่ยวเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปแปรเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งเป็นการเอาทุนทรัพยากรไปแลกทุนเศรษฐกิจ
ซึ่งเป็นการมองเพียงด้านเดียวคือเอาตัวเงินเป็นที่ตั้ง ทั้ง ๆ
ที่เรายังมีทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมที่ได้รับผลกระทบไปด้วย
แหล่งท่องเที่ยวหลายแหล่งเปิดตัวเพื่อหวังเงินรายได้ แต่ส่งผลกระทบทำให้วัฒนธรรม
ประเพณี หรือวิถีชีวิตในสังคมเปลี่ยนไป ซึ่งหลายชุมชนที่ยังคงรักษาฐานทุนทางสังคม
ทุนทางวัฒนธรรม และทุนทรัพยากร เพราะมีมุมมองว่า การท่องเที่ยวควรเป็นกลอุบายที่ทำให้เราสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรม
ประเพณีและขนบธรรมเนียมได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในมุมมองระยะยาวผลตอบแทนที่ได้รับไม่เฉพาะด้านวัฒนธรรม ประเพณี
แต่ยังรวมถึงรายได้ที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น
เราก็ต้องมาหาทางแก้ที่สาเหตุของปัญหานั้น
คือการเปลี่ยนมุมมองว่าการท่องเที่ยวเป็นสินค้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้
มาถึงตอนนี้
หลายคนอาจจะเรียกร้องให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูทับเบิก
หรือ เกาะพีพี การแก้ไขปัญหาแบบนี้จะส่งผลกระทบอีกปัญหาหนึ่งกับผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวนั้น
เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวย่อมถูกลดจำนวนลงอย่างแน่นอนและส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
กับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังพัฒนา โดยแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังพัฒนา เช่น
ทุ่งหยีเพ็ง เกาะลันตา หรือพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่นั้น
ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสเรียนรู้และมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับที่อื่นและนำมากำหนดแนวทางในการจัดการของตนเอง
ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่เหล่านี้ควรวางแผนแม่บทในการบริหารจัดการ
และกำหนดพื้นที่และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ไม่ให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวหรือใช้ประโยชน์เกินขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยว
เรื่องนี้ชาวเกาะลันตามีการคุยกันว่าถึงเวลาหรือยังที่เราจะควบคุมปริมาณโรงแรมในเกาะลันตาทั้งเพื่อลดปัญหาด้านการใช้ประโยชน์เกินขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว
ยังสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจท่องเที่ยวด้วย
ซึ่งการวางแผนตั้งแต่ต้นด้วยการมองไกลไปอีก 5 – 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อยจะทำให้เราสามารถวางแผนการบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างปีนี้ทีมพวกเราเข้าไปพัฒนาและวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม
จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เป็น 1 ใน
2 ของโลกและวางแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่การของบประมาณในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นเพื่อการบริการตามศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและข้อกำหนดด้านความปลอดภัย
ตลอดจนการวางแผนพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ป้องกันการบุกรุกเข้าไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง
ๆ ในป่าชายเลน และที่สำคัญสิ่งที่เราบอกกับชุมชนคือ
เราปล่อยให้ชุมชนคิดว่าจะเดินอย่างไร แปรเปลี่ยนทุกอย่างเป็นทุน
อีกไม่กี่ปีแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมไม่มีคนมา
ทุกอย่างก็ย้อนอดีตไปเหมือนตอนยังไม่ทำท่องเที่ยว แต่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปแล้วเรียกกลับคืนมาไม่ได้
และสุดท้าย
ชุมชนเลือกเองครับว่าจะเดินไปทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนไม่เน้นเม็ดเงินแต่เน้นที่จะใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการรักษาทุนทางวัฒนธรรม
ทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรของชุมชน
คราวนี้แล้วแหล่งท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาไปแล้วจะทำอย่างไร
คนนอกอย่างเราคงตอบไม่ได้ทั้งหมดครับ เพราะถ้าให้คนนอกคิด การแก้ปัญหาง่ายครับ คือ
จำกัดจำนวนโดยไม่สนว่าใครจะเป็นอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติทำแบบนั้นไม่ได้ใช่ไหมครับ
หลายท่านอ่านอาจจะคิดในใจว่า “อ้าว แล้วจะให้ทำอย่างไร” วันนี้คนในซึ่งก็คือ
คนท้องถิ่น
และนักธุรกิจที่ดำเนินการธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดคิดและส่งสัญญาณว่าเราตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา
และค่อย ๆ
ดึงผู้รู้และผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการธุรกิจเข้ามาประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับปัญหานั้น
เหมือนที่ผู้ประกอบการที่เกาะพีพี เริ่มลงมือเดินหน้าหาทางออกให้กับพื้นที่ตัวเอง
โดยมีข้อแม้ว่าทางเลือกที่จะทำนั้นมุ่งสู่ปลายทางที่จะรักษาฐานทรัพยากรหรือฟื้นฟูทรัพยากรให้มากที่สุด
สิ่งใดที่ต้องอาศัยอำนาจภาครัฐก็ประสานงานกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการในปัจจุบันระบุว่ายินดีจะจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีเท่าที่แหล่งท่องเที่ยวนั้นจะรองรับได้
แต่ติดปัญหาเรื่องกฎหมายก็ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อหาทางออก
และที่สำคัญอย่าลืมคนท้องถิ่น เจ้าของพื้นที่ให้เค้าได้มีโอกาสร่วมคิด
ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านตัวเอง อีกมุมหนึ่ง
นักท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกันต้องมีส่วนร่วมด้วย
อย่ามองว่าแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมคือสินค้า ฉันมีเงิน ฉันจ่ายเงิน
ฉันจะทำอะไรก็ได้ อย่าลืมนะครับว่านักท่องเที่ยวคือจุดเริ่มต้นของธุรกิจ (demand) ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเรื่องนี้ถึงจะสำเร็จครับ
เล่าถึงตรงนี้จะไม่เล่าพื้นที่ที่เขาทำได้ดีกันบ้างหรือครับ
มีครับ ถ้าใครเคยไปเกาะพงันไปร่วมงานฟูลมูนปาร์ตี้
ย่อมเคยเห็นภาพคนจำนวนมากสนุกสนานบนหาดทราย ดื่มและเต้นรำอย่างสนุกสนาน
แต่พออีกวันหนึ่งหลังจากกองทัพนักท่องเที่ยวออกจากชายหาด การจัดการในพื้นที่มีการร่อนทรายเพื่อแยกขยะและจัดเก็บออกจากหาดทรายทำให้ชายหาดกลับมาสวยงาม
ปราศจากขยะแม้แต่ชิ้นเดียว และที่สำคัญไม่มีร่องรอยของการผ่านการใช้งานหนักในคืนที่ผ่านมาหลงเหลืออยู่เลยครับ
หรือตัวอย่างของ TRASH
Hero ที่เกาะหลีเป๊ะ ที่ช่วยกันกำจัดขยะทั้งนักท่องเที่ยว คนในพื้นที่
ผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
พอร่วมกันทำผลที่เห็นคือกองขยะที่พร้อมนำไปกำจัดกองใหญ่มาก
เลยเป็นจุดคิดว่าถ้าไม่ลงมือทำอะไรจะเกิดขึ้น ภายหลัง TRASH Hero ได้ขยายกิจกรรมไปในอ่าวนาง และกำลังเริ่มต้นที่เกาะลันตา ทำไมผมต้องยกเรื่องนี้หรือครับ
เพราะผมต้องการสื่อว่าแม้ว่าจะมีการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่หากทุกฝ่ายร่วมกันตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และสังคม หรือด้านอื่น ๆ และหาทางที่จะจัดการกับผลกระทบนั้นร่วมกัน
อย่างน้อยก็จะสามารถรักษาทุนทรัพยากร ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมของแหล่งท่องเที่ยวต่าง
ๆ ไว้ได้นานขึ้น ผมเคยคุยกับนักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่ง เค้าบอกว่า “ความยั่งยืนคืออะไร
เอาอะไรมาวัด
เค้ารู้แต่ว่าเราควรทำอย่างไรก็ได้ที่ให้ทรัพยากรนั้นสามารถคงอยู่ได้นานที่สุด”
ผมมานั่งคิดตามก็ถูก เพราฉะนั้นสิ่งที่สำคัญกับการรักษาทุนต่าง ๆ นี้ คือ
การบริโภคอย่างมีจิตสำนึก (mindful consumption) และผมขอฝากไว้ก่อนจะมาต่อในตอนต่อไปกับการบริโภคอย่างมีจิตสำนึกก่อนที่จะมาเขียนมุมมองของผมต่อภาพยนตร์เรื่อง
“อาบัติ” เช่นเคยครับ
หากท่านใดต้องการแลกเปลี่ยนมุมมองหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมส่งข้อความได้ครับที่ psiwarit@gmail.com นะครับ
ขอบคุณครับ
Siwarit Valley 2015© สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง
Siwarit Valley 2015© สงวนลิขสิทธิ์ เอกสารใน Blog นี้ ห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาตอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ โดยต้องใช้ตามต้นฉบับเดิมห้ามแก้ไข ดัดแปลง