ขึ้นต้นมาตอนนี้ ผมไม่ได้กำลังหาซื้อของและกำลังต่อรองราคาอยู่นะครับ แต่ว่าเป็นการพูดถึงว่าขนาดตัวอย่างหรือจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จะทำการเก็บข้อมูลในงานวิจัยแต่ละชิ้นเป็นเท่าไหร่ดี หากจะมองตามความเคยชินที่ทำมาตอนเรียนและทำวิจัยที่เมืองไทย กับการมาสัมผัสประสบการณ์วิจัยในต่างประเทศ รวมทั้งการผ่านหูผ่านตางานวิจัยทั้งจากนักวิจัยที่มาบรรยายกับการอ่านบทความวิจัยในวารสารต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมชัดเจน ผมนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับขนาดตัวอย่างนี้เพราะเวลาพูดถึงงานวิจัย นักวิจัยเชิง Positivist มักจะถามว่าขนาดตัวอย่างเท่าไหร่ หรือ เมื่อเจอเพื่อนๆ ที่ทำวิจัยมักจะมีการพูดคุยกันว่าเก็บข้อมูลเท่าไหร่ดี จำนวนกี่ตัวอย่าง แม้ว่าศาสตร์ในการวิจัยจะเป็นศาสตร์ที่มีกระบวนการที่แน่นอนและเป็นมาตรฐาน ผมกลับมองว่าจำนวนตัวอย่างนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการกำหนดกลุ่มตัวอย่างว่างานวิจัยแต่ละงานจะมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนเท่าไหร่ดี ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงจำนวนกลุ่มตัวอย่าง ผมขอกล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับขนาดตัวอย่างจากประสบการณ์ในการทำวิจัยมาก่อนนะครับ
ช่วงเรียนและทำวิจัยในเมืองไทย เวลาจะทำงานวิจัยแต่ละชิ้น ผมแทบจะไม่ต้องคำนึงถึงขนาดตัวอย่างเลย ตัวเลข 400 ตัวอย่างโผล่ขึ้นมาในหัวทันที เพราะงานวิจัยในเมืองไทย (ด้านการตลาด) ส่วนใหญ่มักจะมีแนวคิดแบบ Positivist หรือเป็นงานที่เริ่มต้นก็เดาได้เลยว่าใช้แบบสอบถาม ถามว่าซื้ออะไรที่ไหน อย่างไร เท่าไหร่ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถาม และมีพื้นฐานที่เหมือนกันคือ เชื่อหลักการ 'Large number' ว่าผลออกมามักจะถูกต้อง (หรือเปล่า?) ดังนั้น ในงานวิจัยแต่ละชิ้น ผมมักจะคำนวณโดยใช้สูตรของ Yamane เป็นหลัก หรือ เปิดตารางสำเร็จรูป ซึ่งทั้งสองวิธี หรือแม้กระทั่งใช้สูตรคำนวณอื่น ๆ ค่าที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักคือ ประมาณ 385 - 400 ขนาดตัวอย่าง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วแต่ละวิธีการคำนวณล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะละเลยกัน มาถึงก็ดูงานเก่า ๆ ว่าใช้สูตรไหน แล้วก็ตามกันไป บางครั้งกลายเป็นโรคระบาด เนื่องจากงานต้นฉบับทำผิดพลาด พิมพ์ผิด ฉบับต่อ ๆ ไปก็ใช้แบบผิด ๆ ตามกันไป ด้วยความที่ต้องอาศัยจำนวนตัวอย่างมาก ข้อมูลที่ได้รับมักจะเป็นข้อมูลที่ไม่ลึกซึ้งมาก ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจน อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการมองในเชิงมุมกว้างมากกว่ามิติด้านลึก
ช่วงที่มาเรียนที่ประเทศอังกฤษ ได้เข้าฟังงานวิจัย อ่านบทความวิจัย พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานวิจัย มุมมองผมเริ่มเปลี่ยนไป ผมไม่ได้มองว่ากฎ 'Large Number' เป็นกฎที่ถูกต้องเสมอไปแล้ว ผมกลับมองว่าบางครั้ง 'Small Number' ก็ให้สิ่งที่น่าสนใจให้กับนักวิจัยได้เหมือนกัน เพราะหลักการนี้ทำให้นักวิจัยได้รับข้อมูลเชิงลึก เพราะบางครั้งเราต้องการดูพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงแค่ดูว่า ลูกค้าซื้ออะไร ที่ไหน อย่างไร เท่าไร กับใคร เวลาใด เมื่อใด แต่เราต้องการรู้ว่าทำไม เหตุผลหรือ อะไรที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้านั้น รวมทั้งสินค้านั้นมีความหมายอย่างไรกับตัวลูกค้า ด้วยเหตุผลนี้ทำให้นักวิจัยต้องใช้เวลากับกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนมากเนื่องจากต้องการข้อมูลเชิงลึก เพราะฉะนั้น จำนวนตัวอย่างจึงมีขนาดเล็ก ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละครับ แล้วจะมีขนาดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
ดังนั้น ก่อนที่จะมองว่าขนาดตัวอย่างจะมีเท่าไหร่ดี เราต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัยดังนี้
1. ปัญหาในงานวิจัย ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญครับ นักวิจัยต้องถามตัวเองก่อนว่าอยากจะค้นหาคำตอบอะไรจากงานวิจัยนั้น โดยทั่วไปนักวิจัยอาจจะต้องการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้น กับตัวแปรตาม เช่น ต้องการทราบว่าปัจจัยด้านสังคมมีความสัมพันธ์หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ หรือความพึงพอใจของลูกค้าหรือไม่ ด้วยเงื่อนไขทางสถิติในการทดสอบสมมติฐาน ขนาดตัวอย่างต้องมีขนาดใหญ่ ก็ต้องไปคำนวณสูตร หรือเปิดตารางสำเร็จรูป แต่หากนักวิจัยต้องการค้นหาคำตอบในเชิงลึกเพื่อหาคำตอบว่าทำไมลูกค้าถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือ ลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไร อีกทางหนึ่งคือ คำถามว่า ทำไม (Why) และ อย่างไร (How) ขนาดตัวอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องมาก โดยทั่วไปไม่มีการกำหนดแน่ชัด ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศอังกฤษมักจะใช้การอ้างถึงงานวิจัยที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยเชิงคุณภาพ นักวิจัยมักจะเก็บรวบรวมข้อมูลจนกระทั่งไม่เจอเรื่องราวใหม่ ๆ ก็ถือว่าพอ
2. งบประมาณ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดขนาดตัวอย่าง และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพราะงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนการเก็บรวบรวมข้อมูล หากมีงบประมาณมากสามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมากขึ้น
3. เวลา เช่นเดียวกับงบประมาณ โดยทั่วไปหากมีระยะเวลามากพอ นักวิจัยสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ตามแผน แต่บางครั้ง มีเวลาเป็นกรอบการเก็บรวบรวมข้อมูลทำให้บางครั้งมีขนาดตัวอย่างไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าอยู่ในขนาดที่ยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมมีกรอบการเก็บรวบรวมข้อมูลบังคับอยู่ 1 เดือน ในเวลา 1 เดือนผมเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคได้ 108 ชุด ก็ถือว่าอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ หรือ ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยด้านท้องถิ่นภิวัฒน์ (Localization) ของแฟนบอลชาวลิเวอร์พูล ผมใช้การสัมภาษณ์จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 คน คนละ 60 นาที เนื่องจากมีระยะเวลาจำกัด
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยผม ผมใช้วิธี Netnography ซึ่งเป็นการสังเกตบนอินเตอร์เน็ต ไม่มีจำนวนขนาดตัวอย่างที่แน่นอน แต่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น ผมดำเนินการจนกระทั่งผมไม่พบเรื่องราวใหม่ ๆ หรือ Theme ใหม่ ๆ ผมก็หยุดการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้เท่านั้น ดังนั้น ผมจึงฟันธงว่าไม่มีการกำหนดตายตัวแน่นอนเกี่ยวกับขนาดตัวอย่างแต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในงานวิจัยไม่ว่าจะเป็นบริบท กลุ่มเป้าหมาย หรือปัญหาในงานวิจัย